นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อราคาน้ำมันขยับสูงขึ้น จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง และส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าอุปโภคและบริโภคขยับราคาสูงขึ้นตามนั้น เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ติดตามและให้นโยบายมาตั้งแต่ต้น ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้า 18 หมวด ได้แก่ อาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารบรรจุถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีนโยบายให้ปรับราคาสินค้า และยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด
"การพิจารณาปรับราคาสินค้า จะต้องพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง และเป็นกรณีไป เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญหากมีการปรับราคาจะต้องไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างต้องสมเหตุสมผล" นางมัลลิกา กล่าว
นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือห้างร้านไม่ปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และหากมีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายแจ้งขอปรับราคากับห้าง ขอให้แจ้งมาที่กรมการค้าภายในทราบก่อน และให้จัดเตรียมสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีปริมาณเพียงพอ เติมสต็อกสินค้า และชั้นวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค
รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงเทศกาลให้มากขึ้น เช่น น้ำมันพืช ข้าวสาร นอกจากนั้นได้สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เพื่อติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต มิให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
นางมัลลิกา ระบุว่า ราคาน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต น้ำมันดีเซลมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากัน โดยรวมถือว่ามีผลน้อยมาก ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นทุก 0.50 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้าเพียง 0.0002 - 0.08% กรณีปรับขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004 -0.15% ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หากมีการยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล