วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมถึงปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทางเป็น 10,000 ดอลลาร์ฯ (จาก 20,000 ดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาด เหลือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้
อย่างไรก็ดี แม้ภาคท่องเที่ยวจะมีสัญญาณเชิงบวกจากการยกเลิกระบบ Test & Go และผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ ล่าสุดสหรัฐฯ ได้ปรับให้ประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด จากการระบาดของโควิด-19 หรือระดับ 4 (เตือนให้หลีกเลี่ยง) มาอยู่ในระดับ 3 ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางเท่านั้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไทย มีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับ 5 รองจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม ในปี 65 วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 ล้านคน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัย ดังนี้
1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซีย และการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทย ของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงาน กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง
2. นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดหลัก ยังมีแนวโน้มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาด
3. การแข่งขันที่เข้มข้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทย ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกใต้
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า สำหรับพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 1.3 ล้านล้านบาท คลังชี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ขณะที่รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีระดมความเห็น เพื่อกำหนดเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาว่ายังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ ในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นให้พิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการกู้เงิน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ
ปัจจุบันการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท (กันไว้ใช้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ขยายกรอบจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.พ. 65 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.17% ของ GDP)
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีสาธารณะในเดือนพ.ค. นี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกระดับและทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน