นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมี.ค. 65 ว่า การส่งออกขยายตัว 19.5% ที่มูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 18.0% ที่มูลค่า 27,400.6 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้เดือนมี.ค. ไทยเกินดุลการค้า 1,459.1 ล้านเหรียญฯ
สำหรับการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) ขยายตัวได้ 14.9% คิดเป็นมูลค่ารวม 73,601.4 ล้านเหรียญฯ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 18.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 74,545 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 944 ล้านเหรียญฯ
สำหรับการส่งออกสินค้าในเดือนมี.ค. ขยายตัวทุกหมวด ดังนี้ 1. หมวดสินค้าเกษตร ขยายตัว 3.3% มูลค่า 2,168 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในส่วนของสินค้าข้าว ขยายตัว 53.9% ซึ่งการส่งออกข้าวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าทั้งปีนี้ มีโอกาสจะส่งออกข้าวได้ปริมาณมากถึง 8 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออกข้าวได้ 6.1 ล้านตัน 2.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว 27.7% มูลค่า 2,163 ล้านเหรียญฯ 3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 20.6% มูลค่า 23,634 ล้านเหรียญฯ
โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ดังนี้ 1. สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวถึง 2,864.7% 2. เอเชียใต้ ขยายตัว 36.4% 3.อาเซียน ขยายตัว 34.8% 4. ตะวันออกกลาง ขยายตัว 29.5% 5. สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 21.5% 6. สหราชอาณาจักร ขย่ายตัว 14.5% 7. เกาหลีใต้ ขยายตัว 14.5% 8. ไต้หวัน ขยายตัว 9.4% 9. แคนาดา ขยายตัว 9.2% 10. สหภาพยุโรป ขยายตัว 6.9%
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับหนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในภาพรวม มาจาก
1. การส่งเสริมผ่านนโยบาย Soft Power ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64 - มี.ค.65) กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้าน Soft Power ไปแล้วทั้งอบรมให้ความรู้และช่วยเหลือให้การส่งออกบรรลุผล จำนวน 1,878 ราย
2. จัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวก ทั้งการส่งออกทางอากาศ การส่งออกทางเรือที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งการส่งออกทางบก โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งมีการเจรจากับด่านต่างๆ ใน 4 ด่านหลัก คือ ด่านโม่ฮาน ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านผิงเสียง และด่านตงซิง
3. การผลักดันการค้าชายแดน ซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด และล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยเมียนมาเพิ่มมากขึ้นได้
4. ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวได้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อาเซียน
5. อัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรปเริ่มลดลง ในขณะที่บางเส้นทางไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น
6. เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ มีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4-5%
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเตรียมรับมือกับการที่รัฐบาลจะยกเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลว่า ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันมีผลต่อราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี ได้ให้นโยบายไปว่าต้องพยายามกำกับดูแลราคาให้มีความสมดุลกันมากที่สุด ทั้งจากฝั่งของโรงงานผู้ผลิต มาสู่ราคาขายปลีกที่ถึงมือผู้บริโภค
"จะดูแลราคาจากโรงงาน มาถึงราคาขายปลีกให้สมดุลที่สุด พยายามให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีกำไรน้อยที่สุดเท่าที่ธุรกิจจะพอรับได้ และไม่หยุดการผลิต...กระทรวงพลังงานดูแลเรื่องน้ำมัน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เป็นปลายทางที่จะต้องบริหารจัดการให้ประชาชนรับภาระน้อยที่สุด ภายใต้ต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น" นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมย้ำว่า ในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นใน 18 กลุ่มปรับขึ้นราคาขาย ซึ่งสินค้าแต่ละรายการในขณะนี้ยังจำหน่ายอยู่ภายใต้เพดานราคาที่กำหนด ซึ่งการจะพิจารณาอนุญาตให้สินค้าปรับขึ้นราคาได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น เพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลน หรือหยุดการผลิต