สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 ลงเหลือเติบโต 3.5% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้สูงขึ้นมาที่ 5% ต่อปี หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5%
สมมติฐานในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจครั้งนี้ สศค.ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 65 มาที่ 99.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้น 43.8% จากปี 64 แต่ยังคงคาดการณ์ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ 33.10 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า 3.4% จากปี 64 แม้ขณะนี้เงินบาทจะอ่อนค่าลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ในช่วงปลายปีเชื่อว่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 คาดว่ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 3.5% ต่อปี แนวโน้มฟื้นตัวได้จากปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.8-4.8%)
และภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 6.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 64 ที่มีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 5.5-6.5%)
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 65 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 65 วงเงิน 3.18 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.1-5.1%)
ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลงทุนภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 4-5%)
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% ต่อปี แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นผลจากราคาในกลุ่มพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและ กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน 2) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 3) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท
4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ 5) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ