นบข.เคาะประกันภัยข้าวนาปี ปี 65 วงเงิน 1.93 พันลบ. เตรียมเสนอครม.เห็นชอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2022 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการ ได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป

โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 มีหลักการและรายละเอียดในการรับประกันภัย อาทิ

  • ผู้รับประกันภัย : บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามกรมธรรม์
  • คุณสมบัติผู้เอาประกันภัย : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี และปรับปรุงทะเบียน ในปีการผลิต 2565
  • พื้นที่รับประกันภัย (พื้นที่รวมทั้งโครงการ 29 ล้านไร่) การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) 28.5 ล้านไร่ แบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 28 ล้านไร่, เกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 5 แสนไร่ การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 5 แสนไร่
  • งบประมาณ : สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย 28.5 ล้านไร่ (อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะ Tier 1) จำนวน 1,925.065 ล้านบาท

โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี ในปีงบประมาณถัดไป โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส

สำหรับระยะเวลาขายกรมธรรม์ : กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2565 และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ แตกต่างกันตามภูมิภาค ดังนี้

(1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 1) จำนวน 42 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65

(2) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 2) จำนวน 16 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65

(3) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 65

(4) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 65

  • การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน : การประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. รับทราบสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 65 (ม.ค. - ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยในเดือนก.พ. 65 ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น จึงทำให้มีการหันมานำเข้าข้าวหักจากไทยเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้ เนื่องจากมีความกังวลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน

ทั้งนี้ ในปี 65 กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ประมาณ 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.38% จากปริมาณการส่งออกปี 64 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและมีการบริโภคมากขึ้น ประกอบกับคาดว่าน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาข้าวไทยในปี 65 อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีทางการค้าข้าวของไทย

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการขนส่งเพิ่มขึ้นใหม่อย่างเส้นทางรถไฟจีน - ลาว ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนท่ามกลางปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและระวางเรือ อีกทั้ง ยังคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมากนัก โดยอุปสรรคหลักของการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ยังคงเป็นปัญหาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ด้านผลผลิตข้าวไทย ปี 64/65 คาดว่าผลผลิตข้าวไทยจะมีประมาณ 21.16 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านตันข้าวสาร หรือ 2.62% จากปีการผลิต 63/64 ที่มีปริมาณ 20.62 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากในฤดูกาลทำนาปรัง ปี 65 สภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การบริโภคข้าวไทย ปี 64/65 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 11.50 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 0.09 ล้านตันข้าวสาร หรือ 0.78% จากปี 63/64 ที่มีปริมาณ 11.59 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

การเพาะปลูกข้าว ปี 64/65 รอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 60.25 ล้านไร่ ผลผลิต 25.25 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)คาดการณ์ ปี 64/65 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.60 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.26% รอบที่ 2 กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 9.03 ล้านไร่ ผลผลิต 5.41 ล้านตันข้าวเปลือก

ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 64/65 รอบที่ 1 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4,678,876 ครัวเรือน คิดเป็น 101.74% ของเป้าหมาย 4,600,000 ครัวเรือน พื้นที่ 62.70 ล้านไร่ รอบที่ 2 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 396,299 ครัวเรือน คิดเป็น 99.07% ของเป้าหมาย 400,000 ครัวเรือน พื้นที่ 6.36 ล้านไร่ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ 7 เม.ย.65)

สถานการณ์ด้านราคา ณ วันที่ 25 เม.ย. 65 ข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,500-13,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 12,000-13,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 9,000-10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 8,400-9,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,500-11,500 บาท/ตัน

แนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ปัจจัยบวก ได้แก่ (1) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และ (2) สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์กลับมาฟื้นตัว ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้

นายธนกร กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวในที่ประชุม นบข.ด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเรื่องข้าว แต่ก็มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต การตลาด ปริมาณ คุณภาพต่าง ๆ ซึ่งหลายประเทศที่เป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าวเช่นเดียวกับประเทศไทยได้มีการพัฒนาไปมากพอสมควร ซึ่งจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของไทยด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความเห็นใจเกษตรกร โดยขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน ซึ่งมีหลายอาชีพ หลายประเภท และจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และทยอยดำเนินการโดยเร็วที่สุด รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิตข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว ปีงบประมาณ 2565 ด้านการผลิต ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าในการรับรองพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่า 14 พันธุ์ พร้อมกำชับว่าในการใช้จ่ายงบประมาณทุกอย่าง จะต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายทุกประการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ