นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินรวม 64,836 ล้านบาทว่า จะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบได้ในเดือนมิ.ย.-ต.ค. 65 โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือนต.ค. 65 และใช้เวลาก่อสร้าง พ.ย. 65 - ต.ค. 68 โดยตามแผนงาน รฟท. จะเปิดประมูลก่อสร้าง 3 เส้นทาง ได้แก่
- ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,407 ล้านบาท
- ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,197 ล้านบาท
- ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,193 ล้านบาท
โดยช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 69 ส่วน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน คาดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 70
ส่วน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี เงินลงทุน 42,039 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบ และปรับรูปแบบสัญญา และการย้ายสถานีราชวิถี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และเร่งนำเสนอครม.ขออนุมัติโครงการ ไม่เกินเดือน พ.ย. 65 โดยวงเงินลงทุนล่าสุดปรับเป็น 42,039 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงาน ช่วง Missing Link จะเริ่มก่อสร้างล่าช้ากว่า 3 เส้นทางแรกเล็กน้อย โดยจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในช่วงเดือนธ.ค. 65-เม.ย. 66 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 54 เดือน ตั้งแต่พ.ค. 66 - ต.ค. 70 กำหนดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 71
สำหรับกรณีที่ช่วงรังสิต-มธ.ยังไม่ผ่าน EIA นั้นขณะนี้ทางม.ธรรมศาสตร์ได้เซ็นยินยอมเรื่องการใช้พื้นที่แล้ว ดังนั้นจะเสนอหนังสือดังกล่าวไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของการให้เอกชนมาร่วมเดินรถไฟสายสีแดงนั้น อยู่ระหว่างการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ซึ่งเมื่อโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายครบสมบูรณ์ทั้ง 4 เส้นทาง เชื่อว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นและมีความคุ้มค่าในการร่วมลงทุน PPP ในส่วนของการเดินรถและซ่อมบำรุง
สำหรับ บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟสายสีแดงในขณะนี้ ถือว่ามีความพร้อมทั้งคนขับ ขบวนรถ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เสนอ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการปรับเพิ่มบทบาทภารกิจของ รฟฟท. ให้สามารถเป็นผู้บริหารการเดินรถหรือ Operator รถไฟสายอื่นนอกเหนือจาก รถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ และรถไฟสายสีแดง ตามมติครม. เนื่องจากในอนาคต จะมีระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกหลายสาย ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัด
ขณะที่ ปัจจุบันมีผู้ให้ริการรถไฟฟ้าที่เป็น เอกชน จำนวน 2 ราย และหน่วยงานรัฐ 1 ราย คือ รฟฟท. ดังนั้นหาก รฟฟท.สามารถยกระดับขึ้นเป็น ผู้ให้บริการรายที่ 3 ก็จะสามารถไปประมูลแข่งขันในการรับจ้างเดินรถสายอื่นๆได้ ซึ่งคนร.ขอขอมูลเพิ่มเติม ในเรื่องข้อดีที่จะเพิ่มขึ้นการปรับเพิ่มภารกิจดังกล่าว เป็นในการแก้ไขวัตถุประสงค์จัดตั้ง รฟฟท.
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการให้บริการ รฟฟท.สามารถบริหารการเดินรถได้ดี มีความตรงต่อเวลา เป็นอันดับ 1 ซึ่งรถไฟสายสีแดงยังมีผู้โดยสารน้อย ซึ่งหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 พ.ค. 65 จะมีการประเมินผลจำนวนผู้โดยสารรถไฟสายสีแดงและประสิทธิภาพในภาพรวมอีกครั้ง ซึ่งตามมติ ครม. ให้เวลา 5 ปีในการพิจารณาประสิทธิภาพ รฟฟท.
*รฟท.จัด Market Sounding ดึงเอกชนร่วม PPP
นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)
โครงการฯ ได้จัดสัมมารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 ส่วนงานสัมมนาในวันนี้ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอสาระสำคัญของโครงการ มูลค่าการลงทุน ผลการศึกษาและวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงิน แนวทางการร่วมลงทุน รวมถึงข้อมูลด้านการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาประกอบใช้ในการดำเนินโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost ที่จะมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยคาดจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4 ปี 67-19) โดยตามแผนจะศึกษาเสร็จภายในเดือน พ.ค.65 หลังจากนั้นเข้ากระบวนการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาบริหารการเดินรถสายสีแดงทุกเส้นทางและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะนำเสนอต่อครม.อนุมัติก่อนเปิดประมูล
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก คือการให้บริการส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สำหรับระยะที่ 2 คือ การให้บริการรวมส่วนต่อขยาย 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ส่วนระยะที่ 3 คือ การให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ รวมถึงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง โดยระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในลักษณะของ Multimodal Transport เพื่อยกระดับการเดินทาง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน