อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกล่าวว่า อินเดียซึ่งอยู่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จะสามารถเป็นผู้นำโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
"อินเดียได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสามารถก้าวเป็นผู้นำโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อต้อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" กอร์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงนิวเดลีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
กอร์กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่งานเปิดตัวกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร "The Climate Project" ของสหรัฐ ซึ่งจะสนับสนุนความพยายามของอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก
หากพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กอร์กล่าวว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อาทิ อินเดียมีสิทธิที่จะต้องการมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นเช่นกัน
กอร์ ซึ่งปัจจุบันผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและได้รับรางวัลออสการ์จากสารคดีที่ตีแผ่ปัญหาโลกร้อน "An Inconvenient Truth" กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้
วิธีรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ดีที่สุดนั้นไม่ใช่การชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระดับการปล่อยมลพิษของประเทศต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมานาน
"ประเทศของเราเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดมลพิษ และเราจะรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น" เขากล่าว
สหรัฐเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกมานานหลายทศวรรษ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน โดยจีนครองอันดับ 2 มีอัตราการปล่อยก๊าซ 16% และอินเดียติด 1 ใน 5 ประเทศที่ปล่อยก๊าซ โดยปล่อยก๊าซในสัดส่วน 6%
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากล่าวว่า พวกเขายังไม่สามารถให้คำมั่นว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นายมานโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้กระตุ้นให้ประเทศร่ำรวยต่างๆ สร้างความเชื่อมั่นในการส่งผ่านเทคโนโลยีให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อต่อสู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว อินเดียได้ออกมาวิจารณ์กรณีที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายใน 30 ปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2563 โดยมองว่าวิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--