(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มี.ค.หดตัว 0.1%YoY, Q1/65 โต 1.41%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2022 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.65 อยู่ที่ 109.32 ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ 0.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนี MPI ไตรมาส 1/65 ยังขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือน มี.ค.65 อยู่ที่ 68.77% เพิ่มขึ้นจาก 64.58% ในเดือน ก.พ.65 ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 อยู่ที่ 66.35%

ปัจจัยที่ส่งต่อดัชนีฯ มาจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ด้านภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.ขยายตัวที่ 10.4% เร่งตัวขึ้นจากเดือน ก.พ.ขยายตัวที่ 8.0%

"เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัญญาณการส่งออกรวมเดือน มี.ค.ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) เดือน มี.ค.ขยายตัว 7.26% ซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 20,705 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือน มี.ค.ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.66% และ 11.52% ตามลำดับ เพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป" นายทองชัย กล่าว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.65 มีทิศทางที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายเปิดประเทศของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากขึ้น ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจะเป็นปัจจัยช่วยอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งกระทบการค้าระหว่างประเทศ และห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยในเดือน พ.ค.-มิ.ย.65 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนีการผลิตและภาวะธุรกิจของไทยขยายตัวต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยต้องเฝ้าระวังการปรับเปลี่ยนโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น อัตราเงินเฟ้อ และการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ