นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสหภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน จำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. 65 พบว่า แรงงานมีความกังวลเรื่องการตกงานน้อยที่สุด และกังวลเรื่องการหางานทำใหม่น้อย โดยแรงงานที่มองว่างานไม่มั่นคง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน/สัปดาห์/เดือน/ชิ้นงาน ขณะที่แรงงานภาคเอกชนส่วนใหญ๋มองว่างานมีความมั่นคง แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการปลดแรงงานลดน้อยลง อย่างไรก็ดี แรงงานยังมองว่าโอกาสหางานใหม่นั้นทำได้ยาก
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดังนั้น การที่ตลาดแรงงานเริ่มกลับมานิ่งเป็นปกติ แสดงว่าเศรษฐกิจไทยหยุดทรุดตัวแล้ว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังถือว่ายังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการจ้างงานยังไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ จากผลสำรวจ พบว่า แรงงานมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ และราคาสินค้าในปัจจุบันและอนาคตมากที่สุด (เงินเฟ้อ) ส่วนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า แรงงานไม่มีความกังวลมากนัก เนื่องจากขณะนี้มีการผ่อนคลายมาตรการ และจะเริ่มปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่น การทำงาน และการท่องเที่ยวจึงเริ่มกลับมามากขึ้น
ในส่วนของชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในปีนี้ คือ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยแรงงานไทยมีหนี้ถึง 99% ส่งผลให้ปีนี้มีภาระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาท ซึ่งขยายตัวทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ทั้งนี้ ในปีนี้แรงงานมีความตั้งใจว่าจะใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หาได้ ในสัดส่วนที่สูงถึง 42.7% ดังนั้น จึงขาดแรงและกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แรงงานยังมีความตั้งใจในการก่อหนี้ลดลงด้วย ดังนั้น หนี้สินน่าจะอยู่ในระดับที่สูงสุดในปีนี้ หากไม่มีการพลิกผัน
"ที่สำคัญ คือ แรงงานได้ตัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยว การซื้อสินค้าคงทน รวมไปถึงการลดการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย โดยแรงงานมองว่าการจับจ่ายใช้สอยยังไม่กลับมาเป็นปกติ หรือทั้งปีนี้ (อีก 10 เดือน) จะไม่เห็นการใช้จ่าย เนื่องจากแรงงานเชื่อว่า ค่าครองชีพจะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จะเห็นการใช้จ่ายจะซึมตัว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลอตัวลง" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่ากังวล คือ การที่ราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 65 และในเดือนพ.ค. ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได โดยรัฐบาลช่วยครึ่งหนึ่ง โดยรัฐบาลมีการวางแผนเบื้องต้นว่า จะค่อยๆ ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งอาจจะปรับครั้งละ 0.30 บาท/ลิตร และเมื่อแตะที่ 32 บาท/ลิตร อาจปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท/ลิตร โดยอาจกำหนดเพดานไว้ที่ 35 บาท/ลิตร ดังนั้น ในระยะเวลา 1-2 เดือนนี้ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร ภายใต้เพดาน 145 ดอลลาร์/บาร์เรล ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน
"หากถามว่าราคาน้ำมันจะยืนตัวอยู่ที่ระดับดังกล่าวหรือไม่ คำตอบคือน่าจะยืน เพราะสถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ดีขึ้น และยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการเจรจากัน ภายใต้การที่ยุโรปจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัสเซียต่อเนื่อง ซึ่งก็เริ่มเห็นรัสเซียเลิกส่งน้ำมันไปโปแลนด์แล้ว ในส่วนนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวสูงระดับนี้ และอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ หากจีนสามารถจัดการโควิด-19 ได้ ราคาน้ำมันอาจสามารถแตะ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คงจะเห็นราคาน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร ภายในเดือนมิ.ย. นี้" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นทุก 1 บาท/ลิตร ถ้าเป็นระยะเวลา 1 ปี เศรษฐกิจจะชะลอตัวที่ 0.2% แต่หากน้ำมันดีเซลแพงขึ้น 5 บาท/ลิตร เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง 1% (ครึ่งปีเศรษฐกิจย่อตัว 0.5%)
ดังนั้น จากเดิมที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยประเมินว่า GDP จะโตประมาณ 3.5% หากไม่มีสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะโตเหลือ 3% เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นนั้น จะเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ค่าครองชีพมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย และมีผลต่อแรงงาน
"ขณะนี้เริ่มเห็นผลของสัญญาณราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น คือ จะส่งผลให้ราคาสินค้าขายส่งทยอยปรับขึ้นราคาตาม ซึ่งก็อยู่ที่ร้านขายปลีกว่าจะรับการขาดทุนกำไร หรือจะปรับเพิ่มราคาสินค้า ดังนั้น การขึ้นราคาน้ำมันวันที่ 1 พ.ค. นี้ จะมีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน" นายธนวรรธน์ กล่าว
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมิน GDP อยู่ในกรอบ 3-3.5% โดยหากเศรษฐกิจโตอยู่ที่ประมาณ 3.5% หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90-91% โดยคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจไม่ฟื้น โตต่ำกว่า 3% สิ้นปีนี้หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ประมาณ 93-95% ต่อ GDP ซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังไม่โดดเด่น
"โอกาสที่จะขึ้นไปถึง 95% นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเห็นสถานการณ์ราคาน้ำมันว่าจะแพงขึ้นกว่านี้ได้ หรือสถานการณ์โควิดจะกลับมารุนแรงหรือไม่ ดังนั้น ถ้าไม่มีมาตรการให้เศรษฐกิจฟื้นให้อยู่ใกล้ 3.5% ก็มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น ลูกจ้างหรือคนทั่วไปจะเริ่มกู้เงิน" นายธนวรรธน์ กล่าว
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะต้องใช้วงเงินสูงที่ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นหากแตะ 32 บาท/ลิตร ในระยะเวลาอันสั้นภายใน 1 เดือน การใช้น้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านลิตร ซึ่งประชาชนจะใช้เงินเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นแตะ 35 บาท/ลิตร ประชาชนจะใช้เงินเพิ่มขึ้นเดือนละ 7,500 ล้านบาท หากเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. 65 ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นโดดเด่นนั้น เม็ดเงินจะหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่หายไป ก็จะบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ที่เม็ดเงินจะหายจากระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถใช้โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ด้วยเงื่อนไข 1,500 บาท/คน จะทำให้เม็ดเงินในเศรษฐกิจเพิ่มประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เป็นการชดเชยอำนาจซื้อที่หายไป และทำให้เศรษฐกิจอยู่ในกรอบใกล้เคียง 3.5% ได้ แต่หากเป็นเงื่อนไข 1,000 บาท/คน ก็ถือว่ายังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง
"อำนาจซื้อที่หายคือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แต่กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ยังมีอำนาจซื้ออยู่ แต่ไม่ใช้เงิน ดังนั้น มาตรการคนละครึ่งจะช่วยตอบโจทย์ประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง และจะก่อให้เกิดการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจะมีการผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีการผ่อนคลายเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต และการปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น น่าจะหนุนการท่องเที่ยวให้มีการปรับตัวสูงขึ้นได้ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยหอการค้ามองว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านคน แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมากขึ้น นักท่องเที่ยวน่าเพิ่มขึ้นเป็นอยู่ที่ประมาณ 6-8 ล้านคน ซึ่งการยกระดับนักท่องเที่ยวดังกล่าว จะทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวมีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
"อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจะเข้ามาประมาณไตรมาส 4/65 จึงเป็นเหตุผลว่าอยากให้มีโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 เป็นรอยต่อขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
ในส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากการสำรวจพบว่า แรงงานอยากให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 4-5% ขณะเดียวกัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำก็ควรเป็นไปตามไตรภาคีในแต่ละจังหวัด ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น แรงงานก็จะมีอำนาจซื้อมากขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท ซึ่งการที่ลูกจ้างมีการประท้วงขอขึ้นค่าแรงเป็น 492 บาทนั้น มีการปรับขึ้นถึง 10-20% ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก จะเป็นการเร่งทำให้นายจ้างขาดสภาพคล่องทันที จากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น ควรยึดตามความสามารถของนายจ้างมากกว่า