สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ห่วงใยประชาชนอาจถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยแอบอ้างชื่อ ภาพ หรือโลโก้ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน หรืออ้างว่าเป็นพนักงาน บลจ. บล. หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต ขอเตือนให้ระมัดระวังและอย่าหลงเชื่อโฆษณาชักชวนให้ลงทุน โดยตรวจสอบรายชื่อบุคคลผู้ประกอบธุรกิจหรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First
ในปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมากอ้างตัวเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตมาหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุน และสร้างความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงแอบอ้างชื่อ ภาพ หรือตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่นสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ โทรศัพท์ ข้อความสั้น โซเชียลมีเดีย และช่องทางออนไลน์
ก.ล.ต. และ FETCO จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุน และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ รูปแบบการชักชวนลงทุนที่เข้าข่ายหลอกลวงอาจมีลักษณะ ดังนี้
- เสนออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่จูงใจและสูงเกินจริง ที่มาของผลตอบแทนไม่ชัดเจน
- ให้ผลตอบแทนจากการชักชวนคนอื่นมาลงทุน
- รับประกันผลตอบแทนการลงทุน อ้างว่าไม่มีความเสี่ยง
- แอบอ้างชื่อ ภาพ โลโก้หน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อ
- ชักชวนให้ลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้ตรวจสอบได้
- ให้ฝากหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา ไม่มีการรายงานหรือแจ้งยืนยันการลงทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในลักษณะหลอกลวงเพิ่มขึ้นมาก ก.ล.ต. จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการชักชวนลงทุนจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้ ทั้งนี้ ผู้แนะนำการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ติดต่อกับผู้ลงทุนจะต้องมีเลขทะเบียนการเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบได้ และมีหน้าที่อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และที่มาของแหล่งข้อมูลที่ใช้ประกอบคำแนะนำดังกล่าวที่เชื่อถือได้ โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้แนะนำการลงทุนและผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตผ่านช่องทางของ ก.ล.ต. และเพื่อป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลวง ก.ล.ต. และ FETCO จะหารือแนวทางการคุ้มครองผู้ลงทุนในการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มเติมต่อไป
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ FETCO กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีมิจฉาชีพจำนวนมากอ้างตัวเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต FETCO ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาตลาดทุนไทย ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและปกป้องตนเองจากมิจฉาชีพดังกล่าว โดยตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน อาทิ ตรวจสอบให้มั่นใจถึงความมีตัวตนของบริษัทหรือบุคคลผู้ชักชวนว่าเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยขอตรวจสอบใบอนุญาตจากบุคคลนั้น ๆ หรือตรวจสอบรายชื่อจาก ก.ล.ต. เนื่องจากผู้แนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงินจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีผู้เสนอให้ลงทุน โดยควรต้องมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีการโฆษณาอัตราผลตอบแทนที่เกินจริงหรือรับประกันผลตอบแทนโดยอ้างว่าไม่มีความเสี่ยง ผลตอบแทนควรมีที่มาที่ชัดเจน อ้างอิงได้ มีการเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ SEC Check First หากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย โปรดแจ้งที่ "ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต." โทร. 1207 หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกต่อไป
ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. มีกระบวนการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
รวมทั้งสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) โทร. 0-2226-0909 หรือสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) โทร. 0-2264-0900
นอกจากนี้ ยังสามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องทุกข์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร. 1166
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 1570
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร. 1441
ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213