นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตพลังงานและทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงเร่งเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูง ทำให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ไฟไม่ตกไม่ดับ แม้ในช่วงวิกฤตพลังงาน
โดยมีโครงการหลัก คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ซึ่งเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากโครงการนำร่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการท่องเที่ยว
กฟผ. จึงตั้งเป้าเร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2018 Rev.1 ภายใน 5-10 ปี โดยในปี 2565 อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2566 รวมถึงยังมีแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ในโครงการเขื่อนคู่เฉลิมพระเกียรติฉลองพระชนมายุครบ 6 รอบ ในเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีศักยภาพทั้งด้านปริมาณน้ำ พื้นที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พื้นที่ติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) และระบบส่งไฟฟ้าร่วมกันที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,100 เมกะวัตต์ ช่วยในการบริหารจัดการไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งในปี 2565 ตั้งเป้าขยายผลนำระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นจนมีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงไปติดตั้งภายในศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าตามเขตปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 11 แห่ง
ส่วนโครงการติดตั้ง BESS ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี และการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัลนำร่อง จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ และพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือนในอนาคต
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ในยุคสมัยใหม่ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนมีความหลากหลายมากขึ้น กฟผ. ยังเร่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว เช่น
- ธุรกิจ EGAT EV Business ปัจจุบัน กฟผ.ได้ขยายสถานี EleX by EGAT ทั้งแบบชาร์จเร็วและชาร์จธรรมดาในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 49 สถานีทั่วประเทศ โดยภายในปีนี้ ตั้งเป้าจะขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 120 สถานี เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ศึกษาการรวบรวมสถานีชาร์จของแต่ละหน่วยงานให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และวางแผนบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดที่ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มีความครอบคลุมและลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน
- ธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เร่งจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยในช่วงวิกฤตพลังงานสามารถแบ่งเบาภาระประชาชนประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าร่วมทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่ 2 ที่ ต.หนองแฟบ จ.ระยอง กับ บมจ. ปตท. (PTT) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติในประเทศ สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565
- บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ลุยธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต (New S-curve) เช่น เทคโนโลยีการทำตลาดซื้อขายไฟฟ้า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ กฟผ. ยังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมที่ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2565 - 2574 ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน โดยในปี 2565 กฟผ. มีแผนลงพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่ต่าง ๆ การพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Enzy Platform) สำหรับติดตามและควบคุมการประหยัดพลังงานรายอาคาร ปัจจุบันนำร่องใช้งานในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรม โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
"กฟผ. พร้อมเดินหน้าพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ควบคู่กับการสร้างสมดุลพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานตามแนวคิด "EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคนและทำเพื่อทุกคน" โดยคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อชูศักยภาพความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นแต้มต่อสำคัญของประเทศไทย ในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนบนเวทีเศรษฐกิจการค้าโลกต่อไป" ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว