นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร เปิดเผยภายหลังการยื่นหนังสือขอปรับเพิ่มค่าโดยสารต่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม วันนี้ว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลทุกปั๊มปรับขึ้นไปเกินลิตรละ 30 บาทแล้ว ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเดินรถของผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสาร โดยจะขอให้ปรับเพิ่มค่าโดยสารอีกกิโลเมตรละ 9 สตางค์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ สมาคมฯ จะยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสาร เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันแรงงาน แต่หลังจากสิ้นเดือนเม.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งพิจารณาปรับเพิ่มค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการรถโดยสาร
"การขอขึ้นค่าโดยสารกิโลเมตรละ 9 สตางค์นั้น เป็นการขอเพิ่มค่าโดยสารเพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติยังมีต้นทุนอื่นๆที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณกิโลเมตรละ 12 สตางค์ แต่ผู้ประกอบการจะขอแบกรับภาระส่วนต่างนี้ไว้เอง" นางสุจินดา กล่าว
ด้านนายสันติ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่สมาคมฯ จะตรึงค่าโดยสารจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ส่วนหลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาอัตราค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการ โดยจะพิจารณาต้นทุนการเดินรถในทุกๆ ด้าน และหาวิธีเพื่อที่จะลดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น การรวมเที่ยววิ่ง การกำหนดให้รถโดยสารใหม่ต้องใช้เอ็นจีวี
"กระทรวงคมนาคมจะพยายามหลีกเลี่ยงการปรับเพิ่มค่าโดยสาร เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ก็จะต้องพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เพราะทุกฝ่ายก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น" นายสันติ กล่าว
ด้านนายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมโดยสารเอกชน กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ต้องการให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องการให้ภาครัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการเพื่อจัดซื้อรถโดยสารใหม่ใช้เอ็นจีวี จำนวน 3,500 คัน ซึ่งหากดำเนินการดังกล่าวได้ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าโดยสาร และคาดว่าจะสามารถตรึงราคาต่อไปได้นานถึง 5 ปี
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--