นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 105.15 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.65% และเพิ่มขึ้น 0.34% จากเดือน มี.ค.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.71%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน เม.ย.65 อยู่ที่ 102.57 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.00% และเพิ่มขึ้น 0.14% จากเดือน มี.ค. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 4 เดือนแรก อยู่ที่ 1.58%
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
"อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ ยังเป็นผลมาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลัก รวมถึงราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อรัสเซีย"นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือนเม.ย.65 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 65 พบว่า มีสินค้าและบริการที่ราคาสูงขึ้น 182 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, มะนาว, ไข่ไก่, ผักกาดขาว, น้ำมันพืช, อาหารสำเร็จรูป, ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง 83 รายการ ได้แก่ ต้นหอม, มะม่วง, ผักคะน้า, ข้าวสารเหนียว, โฟมล้างหน้า และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการอีก 165 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
นายรณรงค์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.65 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลได้สิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. อีกทั้งปลายเดือน พ.ค.นี้ อีกทั้งการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเดือนเม.ย.-พ.ค. 65 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่มีต่อประเทศรัสเซีย และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่ง สนค. จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
"ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตร ไม่ได้กระทบแค่บางประเทศ แต่กระทบภาพรวมทั้งโลก สินค้าราคาสูงขึ้นตามราคาพลังงาน มีผลต่อค่าขนส่งทั่วโลก และทำให้เงินเฟ้อของทั้งโลกสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ราคาสินค้าก็อาจจะเพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือเพิ่มแบบชะลอตัว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่คาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มแบบชะลอตัวจากนี้ไป" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 65 กระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 4-5% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค. จะมีการทบทวนอีกครั้ง