พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) กล่าวว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะต้องเร่งรัดการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค ที่จะช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้เติบโต เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและสร้างรายได้ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศไทย โดยที่ประชุม กพศ. มีมติที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยกำหนดให้พื้นที่
(1) จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน
(2) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ
(3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC
(4) จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้า และโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ และการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
โดย กพศ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ เร่งพิจารณากำหนดกิจการ เป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการลงทุน
พร้อมทั้งเห็นชอบให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามองค์ประกอบของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การให้สิทธิประโยชน์และ การอำนวยความสะดวกการลงทุน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3) การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงอุตสาหกรรม) 4) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์) และ 5) การวิจัยและพัฒนาและ การถ่ายทอดเทคโนโลยี (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับเขตตรวจราชการ กำกับการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาคตามองค์ประกอบดังกล่าว โดยให้นำความก้าวหน้าการดำเนินงานมารายงาน ต่อ กพศ. โดยเร็วต่อไป
2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี จากเดิมระยะเวลาสิ้นสุดภายในปี 2563 เป็นให้สิ้นสุดภายในปี 2566 เพื่อเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยหากเอกชนลงทุนภายในปี 2565 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี และหากเอกชนลงทุนภายในปี 2566 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และมุกดาหาร ตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้
3. เห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และระบบราง (MR - Map) จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร เพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และโครงการถนนสาย ทล. 2 - สถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และรองรับขนส่งสินค้าทางรถไฟ
4. เห็นชอบแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมุ่งเน้นการตลาด การประชาสัมพันธ์ และ Roadshow เพื่อสร้างโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกเผชิญกับความผันผวนและห่วงโซ่อุปทานเกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนแล้วประมาณ 36,882 ล้านบาท สำหรับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563 - ปัจจุบัน) ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกิจการถุงมือยาง และการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และภาครัฐได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่า 89% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570
โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก - แม่สอด สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ 2 อาคารท่าอากาศยานแม่สอด (เขตฯ ตาก) ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (เขตฯ สงขลา) ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ (เขตฯ เชียงราย) นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (เขตฯ สระแก้ว) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (เขตฯ สงขลา) เป็นต้น และกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการตามมติ กพศ. เช่น การก่อสร้าง ทล.3646 อ.อรัญประเทศ - ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ.หนองเอี่ยน - สตึงบท) ช่วงแยก ทล.33 บรรจบ ทล.3586 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร การก่อสร้างถนนแยก ทล.4 - ด่านสะเดา แห่งที่ 2 การพัฒนาถนนเข้าพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และมุกดาหาร