นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การสนับสนุนการค้าของไทยกับนานาชาติ" ในงานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย "Enhance the Dots" โดยกล่าวว่า ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ในการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ โรคโควิดระบาด และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 65 GDP จะโตประมาณ 3.5-4.5% ล่าสุดประเมินเหลือ 3.5% โดยการส่งออกยังจะคงเป็นตัวหลักต่อไปในปี 65 โดยปีที่แล้วการส่งออกคิดเป็น 58% ของ GDP แบ่งเป็นสินค้า 53% บริการ 5% เดิมตั้งเป้าส่งออกปี 65 คาดโตได้ 3-4% แต่ตัวเลขส่งออกของไทยกลับกันกับ GDP โลก ที่จะบวกเพิ่มขึ้น 6-8%
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการว่า ภาคการส่งออกน่าจะโตได้ถึง 6% ซึ่งในไตรมาส 1 โตไปแล้ว 15% ทำให้ในเดือน ม.ค.-มี.ค. 65 สามารถนำเงินเข้าประเทศแล้ว 2.4 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเดือน มี.ค. เดือนเดียวเป็น +20% ทำเงินเข้าประเทศ 9.2 แสนล้านบาท ในส่วนของปีนี้ตั้งเป้าว่าจะนำเงินเข้าประเทศจากเดิม 8.5 ล้านล้านบาท เป็นให้ได้ 9 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ
นายจุรินทร์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการส่งออกไก่ว่า ประสบความสำเร็จจากการเดินหน้ามา 1 ปีเต็ม โดยได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งเจรจากับประเทศซาอุดิอาระเบียขอส่งออกไก่ ซึ่งซาอุฯ ได้มาตรวจโรงงานไก่ และเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเปิดสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ ไทยสามารถส่งออกไก่ล็อตแรกในประวัติศาสตร์ไปซาอุฯ หลังจากไม่ได้ส่งมาเกือบ 20 ปี
ในส่วนของการส่งออกข้าว ปี 64 ไทยสามารถส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ส่วนปีนี้มีโอกาสส่งออกไปถึง 7-8 ล้านตัน ดังนั้น การส่งออกจึงยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ส่วนการท่องเที่ยว วันนี้ไทยเริ่มนับหนึ่งแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยช่วงก่อนสถานการณ์โควิด การท่องเที่ยวของไทยปี 62 คิดเป็น 11% ของ GDP, ส่วนปี 63 เหลือ 2.7% และปี 64 เหลือเพียง 0.9% อย่างไรก็ดี หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 20 ล้านคน โดยเป็นความหวังที่จะนำการท่องเที่ยวมาเป็นตัวช่วยการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐ-เอกชน การบริโภคและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีการบ้านทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องผลักดันการส่งออกต่อไปให้เข้มข้นขึ้น 2. ต้องช่วยดูแลราคาพืชผลการเกษตรสำหรับคนตัวเล็ก คือเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเศรษฐกิจฐานรากต่อไปได้ และ 3. ดูแลค่าครองชีพของผู้บริโภคทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ไทยยังต้องเดินหน้าด้วยนโยบาย 2 ข้อผสมผสาน คือ 1. นโยบายเชิงรุก Proactive Trade Policyและ 2. ต้องลึก ln-Depth Policy ทั้งเชิงรุกและเชิงลึกจะต้องไปด้วยกัน โดยนายจุรินทร์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ได้แก่
1. คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ทำให้เดินเป้าหมายไปสู่การส่งออก และต่อไปต้องมี กรอ.พาณิชย์ในแต่ละภาค ซึ่งขณะนี้เกิด กรอ.พาณิชย์ภาคใต้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเน้นเฉพาะปัญหาในแต่ละภาคที่รุกและลึกมากขึ้น
2. เรื่องความตกลงการค้าเสรี (FTA) ปัจจุบันมีกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าที่ไทยทำกับทั้งโลก แต่ต้องรุกและลึกมากขึ้น โดยต้องเดินหน้า Mini-FTA ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม กับระดับรัฐและมณฑลหรือเมืองที่มีศักยภาพทางการค้า
3. สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำแผนใหม่ให้รุกและลึกขึ้นในปี 65 ว่า พื้นที่ตลาดเป้าหมายจะเป็นเมืองไหน รัฐไหน หรือโซนไหนของประเทศ ที่จะทำตัวเลขพิเศษ เจาะสินค้าและบริการ
4. การค้าชายแดนเปิดด่านแล้วทั้งหมด 48 ด่าน จาก 97 ด่านทั่วประเทศ โดยหลังจากนี้จะเจาะลึกมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำเงินเข้าประเทศให้เร็วที่สุด
5. สร้างคนรุ่นใหม่ อบรมให้ความรู้หลักสูตรพิเศษ เพื่อให้โตเป็นนายตัวเอง โดยโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO 2 ปีที่ผ่านมา สร้างได้ 20,000 กว่าคน ส่วนปีนี้จะสร้างให้ได้อีก 20,000 คน และมี CEO เชิงลึกสินค้า ทำให้เกิด CEO Gen Z ฮาลาล ที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยปีนี้จะปั้นให้ได้ 1,000 คน บุกตลาดฮาลาลในอนาคต
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้ราคาพืชทางการเกษตรดีเกือบทุกตัว โดยเมื่อวาน (4 พ.ค.) ได้มีการประชุมส่งออกผลไม้เพื่อเปลี่ยนแผน เนื่องจากติดอุปสรรคการส่งทางบก จากนโยบายซีโร่โควิดของจีน โดยต้องยอมรับว่านโยบายซีโร่โควิดยังอยู่ ตราบที่จีนยังไม่เปลี่ยนนโยบาย ซึ่งภายในเงื่อนไขจำกัดนี้ เมื่อใดที่ด่านปิดจะรีบเจรจาให้เปิด โดยแผนการส่งออกปีนี้ได้เปลี่ยนจากทางบก 48% มาเหลือ 10.5% และเพิ่มทางเรือจาก 52% เป็น 83% และทางอากาศจากไม่ถึง 1% เป็น 6.5% นอกจากนี้ ได้ตั้งวอร์รูมให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายมีการประชุมตลอด และได้เปิดพาณิชย์ Fruit Festival 2022 กว่า 10,092 จุดจำหน่ายผลไม้ในประเทศ
ส่วนเรื่องค่าครองชีพ ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อ สินค้าขึ้นราคาเพราะราคาน้ำมันและ พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ต้องจับมือกันแก้ทั้งรัฐบาล กระทรวงอื่นๆ และภาคเอกชน
"หลักคือ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราคาสินค้า 1. ต้นน้ำ เกษตรกร 2. กลางน้ำ ผู้ประกอบการกับผู้ส่งออก 3. ปลายน้ำ ผู้บริโภค ซึ่งผลประโยชน์ย้อนแย้งกันอยู่ จะใช้ วิน-วินโมเดล ทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่กันได้ด้วยดี แม้บางฝ่ายอาจจะต้องลดผลประโยชน์ลงไปบ้าง แต่ให้อยู่ได้ด้วยความยุติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศ มั่นใจว่าในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสภาหอการค้า สภาหอการค้าต่างประเทศและจังหวัด พวกเราทุกคนจะช่วยกันจับมืออย่างเข้มข้นภายใต้นโยบายเชิงรุกและเชิงลึก ให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ มั่นใจว่าจะฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤตครั้งนี้ไปได้" นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ ได้จัดตั้งกรอ.พาณิชย์ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ อุปสรรค และมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น จากที่คาดว่าปีที่แล้วการส่งออกจะโตได้แค่ 4% แต่ไทยสามารถส่งออกโตได้ถึง 17% จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด
นายสนั่น กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาต่อเนื่องของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดังนั้น สภาหอการค้าฯ จะนำแนวทาง 4R มาขับเคลื่อนประเทศ ประกอบด้วย
1. Restart : สร้างใหม่ ประเทศจำเป็นต้องสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ต่อยอดจากธุรกิจเดิม
2. Reimagine : คิดใหม่ เพิ่มมูลค่า และสร้างความได้เปรียบ ต้องร่วมกันคิดรูปแบบ Business Model ใหม่
3. Recover : พลิกฟื้น ร่วมมือกันเพื่อประคองธุรกิจ รอโอกาสพลิกฟื้น
4. Reform : ตื่นตัว เพื่อให้ปรับเร็ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปฏิรูปการทำงานใหม่ โดยเฉพาะเรื่องระเบียบหรือกฎหมายที่ล้าสมัย ช่วยรัฐบาล Transform สู่ E-Government
พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่า Connect the Dots ยังคงเป็นแนวทางการทำงานที่สามารถขยายผล และต่อยอดหลังจากนี้
1. Connect the Dots for Sustainability สภาหอการค้าฯ จะขับเคลื่อนเรื่อง BCG และแนวคิด ESG สร้างต้นแบบธุรกิจให้เป็นตัวอย่างให้ SMEs เห็นการปรับตัวของการค้ายุคใหม่ พร้อมดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน
2. Connect the Dots for Scalability สภาหอการค้าฯ จะผลักดันให้เกิด National Trade Platform ขยายตลาดการค้าไปสู่ตลาดสากล โดยจะมีการเชื่อมทั้ง B2B, B2C, B2G และ G2G พร้อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างสัมพันธ์ทางการค้าและการท่องเที่ยว Trade and Travel เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Regional Hub ของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง
3. Connect the Dots for Repeatability ขยายผลโครงการเพื่อให้เกิดผลและวัดผลได้อย่างแท้จริง ด้วยการต่อยอด Sandbox Digital Finance, Digital Lending โมเดลช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อน "Happy Model" ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งปัจจุบันมีต้นแบบนำร่องโครงการ 5 จังหวัด พร้อมทั้งขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ในอนาคต