นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอยู่ที่ 0.75-1% และมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น และเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปก่อน จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกลับมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มีนัยสำคัญต่อภาพรวม
เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟี้นตัวชัดเจนขึ้นแล้วคาดว่า ธปท.จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงปลายปี 65 จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ต่อปี แต่ในแง่ของค่าเงินบาทมองว่าแนวโน้มยังอ่อนค่า เป็นผลจากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดงบดุลของสหรัฐฯ (QT) ส่งผลให้เงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มองว่ามีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯฯได้ ซึ่งจะต้องติดตามแนวทางการบริหารจัดการค่าเงินบาทของ ธปท.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อทำให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุล
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จากการรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในวันที่ 1 พ.ค.65 พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาเป็น 21,000 คน/วัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และหากยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งสัญญาณบวกมากขึ้น โดยจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามก่อนเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงภาวะการจ้างงานที่จะทยอยฟื้นกลับมาหลังมีการกลับมาเปิดเศรษฐกิจและเปิดประเทศอีกครั้งหนึ่งเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงเป็นภาคการส่งออกและภาคเกษตรที่จะได้รับอานิสงส์บวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การส่งออกยังเห็นการขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ในส่วนของผู้นำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศอาจจะได้รับผลกระทบทางลบ ทำให้กลุ่มที่ต้องนำเข้าต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้กระทบต่อต้นทุนน้อยที่สุด รวมถึงราคานำเข้าพลังงานได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในระดับสูงถึง 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จึงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในแง่ของต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการให้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทางภาครัฐจะยังคงต้องหาทางในการสร้างสมดุลและรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นให้ได้
ในแง่ของการบริหารจัดการราคาน้ำมัน นายกอบศักดิ์ มองว่าการลดภาษีสรรพาสามิตรน้ำมันยังคงมีความจำเป็นที่ต้องยืดมาตรการต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในระยะสั้นก่อนที่จะค่อยๆ ปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวตามกลไกของตลาดในช่วงปลายปี 65 หรือเดือน ธ.ค.65 ให้มีความใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกที่คาดว่าในปีนี้อาจจะอยู่ที่ระดับ 130-140 ดออลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากปัจจุบันที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งเป็นการทำให้คนในประเทศค่อยๆ ปรับตัว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาะรวมเศรษฐกิจมากนัก