นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดลงจากเดือน มี.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.6
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ
- ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
- ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง
- ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 มาที่ 3.5% จากเดิมคาด 4.0%
- ตลาดหุ้นไทย เดือนเม.ย.ปรับตัวลดลง 27.80 จุด
- เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.252 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65 เป็น 33.821 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย. 65 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิก Test&Go ปรับมาใช้การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย
- การฉีดวัคซีนของทั่วโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวล รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
- การส่งออก-นำเข้าของไทยเดือน มี.ค.65 ขยายตัวต่อเนื่อง
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์ ระบุว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเม.ย.65 นี้ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สัญญาณความเชื่อมั่นไม่ค่อยดี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงนี้มีผลจากปัญหาค่าครองชีพเป็นหลัก และราคาน้ำมัน ตลอดจนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่มีภาพของการฟื้นตัว และเมื่อมองไปในอนาคต ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจจะยังซึมตัวต่อเนื่อง
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และถูกเจือด้วยสถานการณ์โอมิครอน แต่สถานการณ์โอมิครอนจะเริ่มคลายตัวตั้งแต่ พ.ค., มิ.ย. เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง แต่สถานการณ์จากค่าครองชีพจะเริ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันแพง เพดานราคาน้ำมันอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร หมายความว่าเดือนพ.ค. โอกาสที่จะเจอราคาน้ำมันจากลิตรละ 32 บาท เป็น 35 บาท ส่วนราคาเบนซิน แก๊สโซฮอล์ที่ระดับ 40 บาท/ลิตร จะเป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่ ส.ค. 64 ซึ่งอีกเพียงนิดเดียวจะทำลายสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นั่นหมายความว่า ถ้าความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้นในช่วง 1-3 เดือนจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2541 หรือต่ำสุดในรอบ 24 ปี
"ภาพการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเริ่มชะลอตัวลง ความเหมาะสมในการซื้อรถ ซื้อบ้าน และค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว จะเริ่มลดน้อยถอยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เข้าสู่ยุคของข้าวของแพง และคนงดการจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย สนับสนุนให้รัฐบาลดูแลราคาพลังงาน และค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งการที่รัฐบาลเลือกตรึงราคาดีเซลไว้อีกสัปดาห์ เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะราคาน้ำมันโลกตอนนี้เป็น sideway และอาจเป็น sideway down เพราะคนกังวลการล็อกดาวน์ของจีน และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
"ราคาน้ำมันโลก อาจจะไม่ได้กดดันให้ราคาน้ำมันในไทยต้องขึ้นไปมาก แต่ถึงอย่างไรแล้วก็ต้องขึ้น เพราะตอนนี้ราคาห่างจากจุดสมดุลไปมาก โดยเฉพาะราคาดีเซล แต่หากประคองให้ขึ้นช้าได้ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า การที่ราคาน้ำมันยังนิ่งตอนนี้ เป็นเพราะจีนล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และมาจากการที่สหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นทั่วโลกซึมตัว มีผลให้ในอนาคตกำลังซื้อของประชาชนชะลอตัว ความมั่งคั่งลดน้อยลง คนจับจ่ายน้อยลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการส่งออกที่เสี่ยงจะเติบโตได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
"ม.หอการค้าไทย สนับสนุนให้มีคนละครึ่ง เฟส 5 ในเดือนมิ.ย. ถ้าสามารถทำได้ เพื่อจะทำให้มีกำลังซื้อ อย่างน้อยถ้ารัฐให้คนละ 1,000 บาท ก็จะมีกำลังซื้อเกิดขึ้นฝั่งละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง และเศรษฐกิจที่นิ่งๆ ซึมๆ รวมทั้งหากให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค. เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดได้ปกติ รวมๆ แล้วน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดได้เป็นแสนล้านบาทต่อเดือน มีจ้างงานได้อีกเป็นล้านคน ใน supply chain ของธุรกิจกลางคืนทั่วประเทศ" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า การใช้มาตรการของภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่น การขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การดำเนินโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ในช่วงเดือนมิ.ย. การรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ ในขณะที่กำลังซื้อจากต่างประเทศยังไม่เข้ามาเต็มที่ รวมทั้งเปิดให้กลุ่มธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดได้ปกติ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียง 3.5% แต่หากไม่มีการพยุงราคาน้ำมัน ก็จะทำให้กำลังซื้อหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน และทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3%
"ถ้าภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลถูกผลักขึ้นไป 3 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาน้ำมันใกล้ระดับ 38-40 บาท ซึ่งเราหนุนให้ขยายเวลาลดภาษีอีก 1 เดือน ที่เป็นรอยต่อก่อนที่โครงการคนละครึ่งเฟส 5 จะออกมา เพราะราคาน้ำมันที่ถูกยันไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร ถ้าทำได้เศรษฐกิจไทยพร้อมโต 3-3.5% เพราะช่วยเติมกำลังซื้อ แต่ถ้าไม่ต่อ กำลังซื้อจะหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน เพราะน้ำมันแพงขึ้นทันที 3 บาท/ลิตร ถ้าลดภาษีลงได้ 1.50 - 3 บาท/ลิตร จะช่วยดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นได้ระดับหนึ่ง" นายธนวรรธน์ กล่าว