นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน (มาตรการฯ REIT buy-back) เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการด้านภาษี โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่
1.1 บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) ซึ่งลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ขายทรัพย์สินมีภาระผูกพันในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าวคืน ซึ่งได้กระทำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
1.2 ทรัสตีของกอง REIT buy-back สำหรับการขายทรัพย์สินคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้กระทำตามข้อ 1.1 ซึ่งได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อทรัพย์สินจากเจ้าของเดิม
ทั้งนี้ เฉพาะการขายทรัพย์สินคืนที่เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด และต้องเป็นไปตามและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยในกรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้สิทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีสิ้นสุดลง และต้องเสียภาษีอากรย้อนหลัง พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (ถ้ามี)
2. มาตรการด้านค่าธรรมเนียม โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือ 0.01% สำหรับกรณีดังนี้
2.1 เจ้าของเดิมโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทรัสตีของกอง REIT buy-back ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยใช้บังคับ
2.2 ทรัสตีของกอง REIT buy-back โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าของเดิมโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทรัสตีของกอง REIT buy-back
ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการข้างต้นจะมีการดำเนินการโดย (1) การตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 1 ฉบับ และ (2) การออกประกาศกระทรวงมหาดไทยตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด รวม 2 ฉบับ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการฯ REIT buy-back จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันเป็นเหตุให้เกิดการขาดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ โดยใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการขายทรัพย์สินให้แก่กอง REIT buy-back และยังรักษาความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินดังกล่าวไว้ได้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า กอง REIT buy-back จะมีการลงทุนในทรัพย์สินประมาณ 30,000 ล้านบาท