พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 13 พ.ค. นี้ โดยมีหลายวาระในการหารือในการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนทั้งหมด และจะมีการแถลงวิสัยทัศน์ร่วมในเรื่องของโควิด-19 เรื่องการตั้งกองทุนอาเซียนการทำวิจัย การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การร่วมมือด้านการค้าการลงทุนความร่วมมือทางทะเล ความมั่นคง การพัฒนาทักษะดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาพลังงานสะอาด และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาคอาเซียน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการในด้านความร่วมมือกับประชาคมโลกอีกหลายด้าน ทั้งการประชุม ผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของโลกในด้านจำนวนประชากรและเศรษฐกิจ ซึ่งไทยมีความยินดีที่จะได้รับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกาในวาระ 65-66
นอกจากนี้ จะมีโครงการความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น โครงการกลไกเครดิตร่วม JCM ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มูลค่ามากกว่า 2,300 ล้านบาท เพื่อที่จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 2 แสนตัน
อีกทั้ง กรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกประจำปี 2565 ซึ่งเป็นโอกาส ที่ไทยจะแสดงศักยภาพการค้าการลงทุนให้กับประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และรัสเซีย โดยประเด็นที่จะหารือกันคือ การฟื้นฟูการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาและบริการโลจิสติกส์ร่วมกัน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลก และป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค และได้พัฒนาระบบที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์จากสมาชิกอาเซียนได้ครบทุกประเทศ ที่จะช่วยส่งเสริมตอกย้ำความเป็นหนึ่งในโลจิสติกส์และเพิ่มความมั่นใจในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการให้เร่งรัดการเสริมความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับเส้นทางสายจีนและ สปป.ลาว เพื่อการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจอีกด้วย