นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ส่งผลโดยตรงกับภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศด้านเกษตรกรรม การเพิ่มขึ้นหรือลดของอุณหภูมิส่งผลอย่างมากต่อผลผลิต ดังนั้น จึงอาจต้องกลับมาคาดการณ์ปริมาณผลผลิตของยางพาราใหม่ โดยในการคาดการณ์ทุกๆ ไตรมาส กยท. ให้ความสำคัญเรื่องมาตรการ ZERO CARBON ที่จะเข้ามาเพิ่มโอกาสทางการเกษตรโดยเฉพาะยางพารา
ทั้งนี้ กยท. จะเริ่ม Set Zero ในปี 65 และวิเคราะห์ว่ามาตรการ ZERO CARBON จะมีข้อดีข้อเสียกับภาคการเกษตรของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างไรบาง ซึ่งในมุมของ กยท. มองว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต ที่สำคัญคือเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ส่งออกยางไทย โดยคาดว่าสวนยางจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 0.95 ตัน/ปี/ไร่
"วันนี้ กยท. พร้อมขับเคลื่อนมาตรการนี้ โดย กยท.เป็นผู้นำที่เริ่มการขับเคลื่อนมาตรการ ZERO CARBON ในภาคการเกษตร ขณะนี้ เรามีการทำแผน โดยในปี 65 เราจะทำสวนต้นแบบของ กยท. และในอีก 3 ปี ข้างหน้าเราจะต้องเข้าสู่กระบวนการอย่างเต็มรูปแบบ และภายใน 10 ปี สวนยางพาราในประเทศไทยอย่างน้อย 1 ล้านไร่ ต้องเข้าสู่กระบวนการคาร์บอนเครดิต โดยสวนยางของไทยจะต้องได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตนี้" นายณกรณ์ กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ไม่ได้ดำเนินการโครงการ ZERO CARBON เพียงหน่วยงานเดียว แต่มีความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หน่วยงานภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เข้ามามีส่วนร่วม รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่ส่งออกทางเรือ เป็นต้น
"เราร่วมกันผลักดันโครงการนี้ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ผลักดันเรื่องนี้สู่เชิงนโยบาย ซึ่งจะใช้เป็นกลไกลสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ กยท. พร้อมจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เราจะต้องร่วมกันสร้างความยั่งยืนเพื่ออนาคตของเรา" นายณกรณ์ กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวถึงเส้นทางธุรกิจยางพาราไทยว่า ในปีนี้ กยท. ได้จัดโครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจในธุรกิจ startup ด้านยางพารา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนแนวคิดธุรกิจ Startup ยางพารา ให้สามารถแข่งขันในระดับโลก เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศ และสร้างมูลค่าให้กับยางพาราด้วย
"กยท. พร้อมต่อยอดผลงาน startup ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ยกระดับกลุ่มธุรกิจ startup ยางพาราไทย ให้มีศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดโลก ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินงาน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 65) งบสนับสนุนกว่า 1.6 ล้านบาท" นายณกรณ์ กล่าว