กยท. ปรับปรุงเกณฑ์วิธีใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2022 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิษฐเดช วัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ทำการปรับปรุงระเบียบการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตร 49(3) พ.ศ.2562 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563

โดยได้ทำการปรับปรุงเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางเกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ามากที่สุด และเพื่อให้การปฏิบัติมีความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะทำการแก้ไข คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ยืม และเงินอุดหนุนเพิ่มเติม, หลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมในการลงทุนของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร, การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยค่าปรับกรณีค้างชำระ, การเพิ่มวงเงินและอำนาจการอนุมัติเงินกู้ยืมและวงเงินอุดหนุน, รูปแบบการให้เงินอุดหนุน, แนวทางการเบิกจ่ายเงิน และการตรวจสอบ การติดตามประเมินผล และการรายงานผลดำเนินการระยะเวลาการให้กู้ยืมเงินและเงินอุดหนุน โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 65

สำหรับการขับเคลื่อนวงการยางพาราของไทย ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา นายดิษฐเดช กล่าวว่า ในปี 64 จัดสรรเป็นเงินกู้ยืม จำนวน 455,000,000 บาท งบอุดหนุนจำนวน 168,412,683 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 623,412,683 บาท โดยมีการจัดทำโครงการใช้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 365,600,040 บาท

ปี 65 งบประมาณเพื่อให้กู้ยืมและงบอุดหนุนจำนวน 880,000,000 บาท มีเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 774 ราย แบ่งเป็น เงินกู้ยืมจำนวน 61 ราย งบประมาณจำนวน 67,903,000 บาท และเงินอุดหนุน 713 ราย งบประมาณจำนวน 107,343,772.07 บาท งบประมาณรวมทั้งสิ้น 175,246,772.07 บาท

ปี 66 อนุมัติกรอบงบประมาณเงินกู้ยืมจำนวน 424,853,000 บาท และเงินอุดหนุนจำนวน 568,268,000 บาท

ทั้งนี้ ผลจากการที่ได้รับเงินอุดหนุน คือ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แบ่งเบาภาระการลงทุน ลดต้นทุนการผลิต สร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาด เครื่องมือชะลอการขาย ดูดซับวัตถุดิบออกจากตลาด นำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคายาง

ขณะเดียวกัน เป็นการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต แปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่า สนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารารูปแบบใหม่ และการต่อยอดธุรกิจยางพารา ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ พัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐานสากล GAP/GMP/FSC/ISO/มอก. สู่การเป็นสวนยางยั่งยื่น ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ