น.ส.ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน โดยการผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(FX regulatory framework) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. โอนเงินตราต่างประเทศ (FX) ออกไปยังต่างประเทศได้เสรีขึ้น และชำระ FX ในประเทศได้ตามความจำเป็น โดย
(1) ให้สามารถโอน FX ออกไปต่างประเทศได้ตามภาระที่มี ยกเว้นเพียงธุรกรรมที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การชำระค่าสินทรัพย์ดิจิทัล, การส่ง FX ออกไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินบาทกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (THB offshore)
(2) ยกเลิกการมีวงเงินโอน FX ออก โดยให้เหลือเฉพาะวงเงินของการส่งเงินให้เปล่าแก่บุคคลในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
(3) นิติบุคคลสามารถซื้อ FX เพื่อชำระในประเทศได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น การชำระค่าสินค้าบริการในประเทศเป็น FX เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก (เช่น น้ำมัน)
2. ขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงจากการมีรายรับรายจ่ายสกุล FX กับต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น แต่สามารถรวมความเสี่ยง FX อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงได้ด้วย เช่น ความเสี่ยงจากการชำระค่าสินค้าที่อ้างอิงราคาตลาดโลกกับคู่ค้าในประเทศ, ความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินสกุลอื่นที่ไม่ตรงกับรายได้ของบริษัท (currency mismatch)ฃ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายสกุล FX ในอนาคต และความเสี่ยง FX ของกิจการในเครือมาป้องกันความเสี่ยงได้ จากเดิมที่ทั้งหมดนี้ต้องขออนุญาตก่อน
3. ไม่ต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX หากธนาคารเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง FX ของลูกค้าอยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่มีวงเงิน FX หรือมีธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคารอยู่แล้ว
ด้านนางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของประเทศมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างด้านขาเข้าและขาออก อีกทั้งยังช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
"การผลักดัน New FX ecosystem ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง และคาดเดาได้ยาก" นางอลิศรา ระบุ
ในระยะถัดไป ธปท. มีแผนที่จะปรับ FX service provider landscape ผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เช่น money changer (MC) และ money transfer (MT) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยและ SMEs เข้าถึงบริการ FX ได้สะดวกขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม
"เหตุผลที่ต้องปรับ FX service provider landscape เพราะต้นทุนโอนเงินระหว่างประเทศของไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งต้นทุนการโอนเงินเมื่อคิดจากค่าธรรมเนียมแลกเงิน รวมกับค่าธรรมเนียมการโอน จะอยู่ที่ราว 7% ต่อการโอนเงิน 50,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ผู้ให้บริการธุรกรรม FX ส่วนใหญ่ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้รายย่อย และ SME ยังเข้าไม่ถึง ผู้ใช้บริการมีทางเลือกไม่มาก" นางอลิศรา กล่าว
สำหรับแนวทางเบื้องต้นในการปรับ FX service provider landscape ได้แก่ 1. ขยายขอบเขตการให้บริการ FX ของ non-bank ในปัจจุบัน เช่น ให้ทำธุรกรรมได้หลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้น 2. ขยายขอบเขตของใบอนุญาตให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ เช่น ซื้อขาย FX ผ่าน platform 3. ปรับแนวทางการอนุญาต non-bank ในการให้บริการธุรกรรม FX ให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ non-bank สามารถให้บริการได้หลากหลาย และปรับเปลี่ยนธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
"ตอนนี้ ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากฎระเบียบ และหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงกฎหมาย คาดว่าจะมีบางส่วนของแผนที่จะเริ่มใช้ได้ในปลายปี 65 และจะค่อยๆ ทยอยใช้ในส่วนอื่นๆ ต่อไปในปี 66 และ 67" นางอลิศรา กล่าว