นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะในช่วงนี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และเห็นว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังเป็นอัตราที่ไม่แน่นอน ควรรออีกสักระยะ ขณะที่ บขส. การรถไฟฯ ใช้น้ำมันในปริมาณมาก การจัดซื้อล็อตใหญ่ทำให้รับราคาที่ต่ำกว่าหน้าปั๊มประมาณ 1 บาท/ลิตร จึงประเมินว่า ยังจะสามารถตรึงค่าโดยสารไปได้อีก
ส่วนผู้ประกอบการเอกชน เนื่องจากไม่ได้รับส่วนลดดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้พิจารณามาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ เช่น การขยายเวลาต่อสัญญา หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีใช้รถหรือเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนมาตรการที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงคมนาคม จะนำหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสรพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการรวบรวมข้อมูล จำนวนผู้ประกอบการขนส่งในแต่ละประเภทที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ ได้แก่
- คมนาคมทางบก กลุ่มรถบรรทุกไม่ประจำทาง (70) ที่จดทะเบียน มีจำนวน 388,620 คัน มีจำนวนผู้ประกอบการ ประมาณ 36,072 ราย โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 240,000 คัน (62% ของรถทั้งหมด) ใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 120 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,592 ล้านบาท
กลุ่มรถโดยสารสาธารณะประจำทาง ขนส่งผู้โดยสาร ทั้งรถขสมก. รถบขส. และรถร่วมเอกชนทั้งหมดที่จดทะเบียนทั่วประเทศ มีจำนวน 62,491 คัน โดยมีใบอนุญาตจำนวน 2,869 ใบ โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 50,947 คัน (85%ของรถทั้งหมด) มีการใช้น้ำมันดีเซล เฉลี่ย 142 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท
สรุป การเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมันดีเซล 2 บาท/ลิตร ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 3,607 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการขนส่งสินค้า 2,592 ล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1,015 ล้านบาท
ส่วนผู้ประกอบการรถสาธารณะ ประมาณ 170,000 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์รรับจ้าง จำนวน 111,552 คัน รถรับจ้างสามล้อ จำนวน 10,472 คัน รถรับจ้างแท็กซี่ จำนวน 66,462 คัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงและจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสนอขอปรับลดภาษีประจำปี 90% เพื่อช่วยเหลือ โดยต้องดำเนินการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ให้มีการลดภาษีในรอบปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต่อไป
สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการบริการผู้โดยสารได้รับเงินอุดหนุนเชิงสังคมสำหรับบริการสาธารณะ (PSO) อยู่แล้ว โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซล ที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่ง โดยจะตรึงอัตราเฉลี่ยที่ 29.76-30.00 บาท/ลิตร (ไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจริง) ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อเดือนลดลง เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางราง
ขณะที่ขสมก.ได้รับการอุดหนุน PSO สำหรับรถร้อน แต่พบว่า ปัจจุบัน รถปรับอากาศ มีผลขาดทุนอย่างมาก จึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการขอรับการอุดหนุน PSO จากรัฐเหมือนรถร้อน เพื่อลดภาระจากให้บริการ ซึ่งได้ให้ขสมก.ทำรายละเอียดข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอครม. ต่อไป
- คมนาคมทางน้ำ ได้แก่ เรือโดยสารคลองแสนแสบ ปัจจุบันให้บริการ 164 เที่ยวต่อวัน, เรือด่วนเจ้าพระยา ให้บริการจำนวน 62 เที่ยวต่อวัน ,เรือข้ามฟาก ให้บริการ 979 เที่ยวต่อวัน โดยถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยกรมเจ้าท่า ยังคงตรึงราคาค่าโดยสาร ขณะเดียวกันจะเสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากกระทรวงพลังงาน ให้กับผู้ประกอบการเรือโดยสาร คิดเป็นจำนวน 13,328 ลิตร/วัน สนับสนุนลิตรละ 2 บาท เป็นเงินรวม 26,656 บาท/วัน รวมทั้งสิ้น 2,399,040 บาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน รวมทั้งจะเสนอขอขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จนถึงเดือนธันวาคม 65
สำหรับมาตรการที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเสนอออกประกาศกระทรวงคมนาคมและกฎกระทรวง เกี่ยวกับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ สำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนเรือพลังงานน้ำมัน โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียมเพียงกึ่งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 65
- คมนาคมทางอากาศ ปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือวันที่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย.65 ซึ่งทางผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศได้ขอให้ขยายมาตรการออกไปถึงสิ้นปี 65 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากการลดภาษีสรรพาสามิตไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงคมนาคม