(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวขยายลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาท/ลิตร ช่วง 21 พ.ค.-20 ก.ค.65

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 17, 2022 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวขยายลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาท/ลิตร ช่วง 21 พ.ค.-20 ก.ค.65

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก ลิตรละ 5 บาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.65 - 20 ก.ค. 65 เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำมันดีเซลราคาแพง ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่างๆ หลังจากที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในรอบแรก จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยเริ่มตั้งแต่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.65 เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นจะพิจารณาต่ออีกทุกๆ 2 เดือน

การขยายมาตรการลดภาษีในครั้งนี้ คาดว่าจะกระทบต่อรายได้ของรัฐประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งวันนี้ใช้เงินกู้ไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท แต่จำเป็นต้องใช้เพื่อนำมาดูแลประชาชน และภาคการผลิต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้มากที่สุด และไม่ให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้นไปตามราคาตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องปรับตัวตามค่าขนส่ง

ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ยอมรับว่า รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม พร้อมเน้นการขอความร่วมมือประหยัดพลังงาน

"สิ่งใดช่วยได้ก่อนก็อยากจะช่วยประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลอยากช่วยทุกกลุ่ม แต่ก็ต้องดูเรื่องงบประมาณด้วย ซึ่งการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับน้ำมันดีเซลเนื่องจากเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า และการบริการขนส่งมวลชน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2566 โดยจะนำส่งให้ สภาฯ พิจารณาต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจว่า หลายอย่างก็ดีขึ้น แต่ยังบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็หวังว่าสงครามสิ้นสุดโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกระทบไปทั้งโลก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบ ทำให้ไม่สามารถตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดระดับราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรม จึงปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าว มีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้น และถ้าหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลยังคงใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกหลักในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยในการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ