น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/65 ขยายตัวที่ 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.5%
โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 8.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน โดยขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.3% สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับลดลงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ด้านสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัวสอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,016.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 909.4 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 165.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192.5%
"ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง มีความสามารถในการขยายสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อ ที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น" น.ส.สุวรรณี กล่าว
ส่วนคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/65 ในภาพรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 531.9 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.93% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.09% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.39%
ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/65 จำนวน 49.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 11.8% โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.87% จากไตรมาสก่อนที่ 0.67% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.45%
"คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัว แต่ยังต้องติดตามคุณภาพของลูกหนี้รายย่อยที่สะท้อนความเปราะบางมากขึ้น จากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับภาระต้นทุน และค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น" น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงแนวโน้มกำไรของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 2/65 ว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกของการส่งออก และการท่องเที่ยว จากมาตรการเปิดประเทศ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเรื่องราคาสินค้า และราคาพลังงานสูง ที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ จึงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ภายใต้ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง
ส่วนความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โดยเป็นข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 พ.ค. 65 พบว่า มีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว 170,762 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 51,706 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยรายละ 3.3 ล้านบาท ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวถือว่ากระจายตัวดี ทั้งขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดยปัจจุบัน ยังเหลือวงเงินสินเชื่ออีกราว 80,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 250,000 ล้านบาท
ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติในโครงการแล้ว 44,747 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 337 ราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยโครงการนี้ มีวงเงินสินเชื่อรวม 100,000 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้น พบว่า มีจำนวนบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือ 4.69 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 3.10 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ และ Non Bank 1.91 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.19 ล้านล้านบาท เป็นการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI)
น.ส.สุวรรณี ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ครัวเรือน เพียงแต่ต้องใช้เวลา และดูจังหวะที่เหมาะสมในการออกมาตรการแก้ไข โดยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ปัจจุบัน ข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 90% ของจีดีพี ซึ่ง ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเน้นการช่วยให้ประชาชนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อมีเงินนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การแก้หนี้ครัวเรือนให้ดีขึ้น คือ ต้องทำให้รายได้กลับมา
"การที่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาอยู่ในระดับดังกล่าว เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่เกิดปัญหาโควิดระบาดในประเทศ ส่งผลให้มูลค่าจีดีพีลดลงแบบช็อค ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้ สัดส่วน 2 ใน 3 มาจากมูลค่าจีดีพีที่ลดลง และที่เหลือ 1 ใน 3 มาจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น" น.ส.สุวรรณี กล่าว