นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า ค่าโดยสารรถประจำทางยังนับเป็นสินค้าและบริการประเภทเดียวที่ถูกกำหนดโดยรัฐให้มีการปรับราคาขึ้นและลง ซึ่งอ้างอิงจากโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่ก่อน ธ.ค.49 ถึงเม.ย.62 มีการปรับขึ้นค่าโดยสารเพียง 4 ครั้ง แต่ปรับค่าโดยสารลงถึง 6 ครั้ง และหากนับย้อนไป 15 ปีที่ผ่านมา ปรากฎว่า ในภาพรวม รถโดยสารมีอัตราค่าโดยสารที่ลดลง 1 สตางค์/กิโลเมตร ทั้งที่ต้นทุนทุกหมวดสูงขึ้นตลอดเวลา อาทิ ค่าแรงงาน ค่าอะไหล่ ค่าประกัน และรวมถึงค่าอุปกรณ์เสริมเพิ่มต่างๆ ที่รัฐกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการต่อเนื่องเสมอมา
ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษามาตรฐานการขนส่ง เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพด้านกิจการขนส่ง ดังจะเห็นได้ว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารในปัจจุบัน สร้างความเชื่อมั่นและมีความปลอดภัยสูง จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการที่รัฐเสนอช่วยชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้ผู้ประกอบการลิตรละ 2 บาท วันละ 50-60 ลิตร/คัน ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะน้ำมันปรับขึ้นถึง 5 บาท/ลิตร (จาก 27 บาท เป็น 32 บาท) และระยะทางสายยาว วิ่งถึง 600-700 กิโลเมตร ใช้น้ำมันประมาณ 250 ลิตร ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระถึง 1,000 บาทต่อเที่ยววิ่ง (250X5)
ดังนั้นควรนำมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเมื่อปี 48 ที่ประกาศอัตราขั้นบันได เป็นฐานในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยอิงจากราคาน้ำมันดีเซล ถ้าขึ้นสูงถึง 1.12 บาท/ลิตร จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารกิโลเมตรละ 1 สตางค์ ซึ่งผ่านการศึกษาวิเคราะห์มาอย่างรอบด้าน โดยได้ประกาศใช้ตามโครงสร้างดังกล่าวครั้งล่าสุด เมื่อ 22 เม.ย. 62 ถึงปัจจุบัน โดยอนุมัติให้ใช้อัตราค่าโดยสารกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ซึ่งวันดังกล่าว ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 27.79 บาท แต่หลังจากนั้นราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนถึง ณ วันนี้ (14 พ.ค.) อยู่ที่ลิตรละ 31.94 บาท
ทั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระน้ำมันที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการพยุงราคาน้ำมันดีเซลของกรมสรรพสามิตจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค. 65 และมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสพุ่งทะยานถึงลิตรละ 44 บาท ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับอัตราโครงสร้างค่าโดยสารจากมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จะต้องปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นถึง 15 สตางค์/กิโลเมตร จึงจะสะท้อนต้นทุนที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขอความเห็นใจจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณานำมติโครงสร้างอัตราค่าโดยสารขั้นบันไดของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมาประกาศใช้ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะกิจการเดินรถโดยสาร มีต้นทุนคืออัตราค่าน้ำมันดีเซลถึง 50% โดยให้เร่งสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน ถึงความจำเป็นและเหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริง ช่วยพยุงให้กิจการรถโดยสารสามารถยืนหยัดพัฒนาให้บริการประชาชนอย่างมีมาตรฐานควบคู่ไป
"หากรัฐไม่เหลียวแลและแก้ปัญหาให้ถูกทาง ผู้ประกอบการรถโดยสาร คงจะเดินหน้าประกอบกิจการ และพัฒนางานบริการเคียงข้างวิถีสังคมไทยไปอย่างยากลำบาก" นายพิเชษฐ์ ระบุ