(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.มั่นใจไทยไม่เกิด Stagflation แม้เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจยังโตได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 19, 2022 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างแน่นอน เพราะการที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ไม่ได้ชะลอตัวแต่อย่างใด และเชื่อว่ามีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าปีก่อน

"โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจปีนี้โตช้ากว่าปีก่อนมีน้อยมาก ธปท.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.2% ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวจากปีก่อนที่เติบโตได้ 1.6% ดังนั้นภาวะ Stagflation ก็จะไม่เกิดแน่นอน แม้อัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้จะเพิ่มสูงถึง 4.9% แต่คาดว่าจะทยอยลดลง และเข้าสู่กรอบนโยบายการเงินในปีหน้า" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ตลอดในช่วง 2 ปีที่ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ธปท.ได้มีการออกมาตรการทางการเงินไปแล้วหลายมาตรการ เพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชน และภาคธุรกิจจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด ซึ่งหน้าที่สำคัญของ ธปท.คือการทำงานธนาคารพาณิชย์ ระบบการเงิน และตลาดการเงินยังทำงานได้อย่างปกติที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเกิดวิกฤติซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น

โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการออกมาตรการเพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤติดังกล่าว ซึ่งเป็นการช่วยเติมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ เช่น มาตรการเติมเงินใหม่ และแก้หนี้เดิม ทั้งในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้

ซึ่งมาตรการที่ออกมาในช่วงแรกนั้น อาจจะยังเป็นมาตรการแบบปูพรม ประกอบกับสถานการณ์โควิดยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ จึงต้องมีการปรับปรุงมาตรการให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงได้อย่างตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า การทำนโยบายของหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจมีทิศทางที่คล้ายกัน รวมถึงไทย คือ ต้องให้นโยบายการคลังเป็นพระเอก โดยอาจต้องยอมให้มีการขาดดุลงบประมาณ หรือหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นบ้าง ในขณะที่นโยบายการเงินก็ต้องดูแลเพื่อให้ระบบธนาคาร และตลาดการเงินทำงานได้อย่างเป็นปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ