นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ยังคงคาดการณ์ส่งออกกสินค้าอาหารไทยทั้งปีไว้ที่ 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัว 9.3%
ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1) ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลายประเทศมีแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2) ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนเข้าสู่วิถีดำเนินชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว 3) ราคาอาหารโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยโดยรวม และ 4) เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local content) จะเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว
แม้ว่าในไตรมาส 1/65 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยมีมูลค่า 286,022 ล้านบาท ขยายตัว 28.8% เนื่องจากประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงที่หลายชาติเตรียมการรับการเปิดประเทศ (Reopening) ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก
สำหรับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่ (+20.3%), ข้าว (+30.8%), น้ำตาลทราย (+198.4%), กุ้ง (+20.2%), เครื่องปรุงรส (+24.5%), ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+36.8%), ผลิตภัณฑ์สับปะรด (+21.8%) และน้ำผลไม้ (+35.8%)
ส่วนการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋องมีปริมาณลดลงเล็กน้อยแต่มูลค่าขยายตัวสูง มีเพียงการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทาน เท่านั้นที่การส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ผลไม้ส่งออกของไทยโดยเฉพาะทุเรียนหดตัวลง
ขณะที่แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 65 คาดว่าจะมีมูลค่า 913,978 ล้านบาท ขยายตัว 4.4%
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
1) จีนมีความต้องการสินค้าชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมโควิด-19 นโยบาย "Zero-Covid" ของจีนทำให้หลายเมืองยังพร้อมใช้มาตรการการล็อกดาวน์ได้ทุกเมื่อหากมีการระบาดของโควิด-19
2) ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาวัตถุดิบอาหาร พลังงาน รวมทั้งปัจจัยการผลิตสำคัญทั่วโลก เงินบาทที่อ่อนค่าลงกระทบราคาสินค้านำเข้าให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น กรณีของอินโดนีเซียที่ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น
3) เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 4 ทศวรรษที่ 8.5% ในเดือนมีนาคม 2565 โดยได้แรงหนุนจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น จากข้อจำกัดด้านอุปทานขณะที่อุปสงค์ผู้บริโภคยังแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (ไม่รวมราคาอาหารสด) เพิ่มขึ้นเป็น 2% ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีราคาขายส่งของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 10% สูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นต้น
4) ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว และหดตัวในบางประเทศ โดยสหประชาชาติลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 65 ลงจาก 4% เป็น 3.1% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสแรกปี 65 หดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า -1.4%
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารของไทยในปัจจุบันควรมุ่งเน้นในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังชายแดน ควรมีการอำนวยความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมองว่าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจจะยืดเยื้อ 1-3 ปี คาดว่าจะยังต้องประสบกับภาวะราคาสินค้าผันผวนต่อไป
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาวะโควิดดีขึ้นตามลำดับ ในปีนี้ทุกประทศค่อนข้างมีความมั่นใจ จึงเริ่มเปิดทำการค้ามากขึ้น โดยมีปัจจัยที่เสริมในไตรมาสแรกและต่อเนื่องไตรมาสที่ 2 อาทิ อัตราการแลกเปลี่ยน ต้นทุน ราคาขาย รวมถึงความปลอดภัยอาหาร ที่จะเป็นตัวเร่งให้การส่งออกอาหารไทยดีขึ้น ในด้านต้นทุนการผลิต / ขนส่ง ที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานสูงขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์มีการให้ปรับราคาสินค้าเป็นราย ๆ ไม่ได้ปรับขึ้นได้ทุกราย ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด