อย่างไรก็ตาม ปตท.ประเมินความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน หลังช่วงไตรมาส 1/65 พบว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ ป้อนเป็นเชื้อเพลิง 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตมากขึ้นตามทิศทางการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น คาดว่าไตรมาส 2/65 ความต้องการใช้ก๊าซฯ ยังจะเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับกรณีที่กระทรวงพลังงานให้พิจารณาการนำเข้า LNG ในช่วงราคาถูก เก็บไว้แล้วทำประกันความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศในช่วงเดือน ต.ค.นี้
ปัจจุบันราคา LNG ตลาดโลกปรับลดลง อยู่ที่ประมาณ 20-21 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สูงถึง 84-85 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งหากเทียบกับการใช้น้ำมันเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ราคา LNG ในระดับช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้มากกว่า ดังนั้นคาดว่าความต้องการใช้ LNG เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะยังเพิ่มขึ้น
ขณะที่สัดส่วนสัญญาก๊าซฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาวประมาณ 70% และสัญญาระยะสั้น 30% จากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 50:50
สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้า LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยในส่วนของโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง คาดว่าเฟสแรก 2.5 ล้านตัน จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่ง และสิ้นปีจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ รองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 7.5 ล้านตัน