นายวิทวัส เลิศบรรณพงษ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ 0.5% หรือ 0.75% อาจทำให้ค่าเงินผันผวนในระยะสั้น แต่หากทราบว่าอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายจะจบที่เท่าไหร่ จะทำให้ตลาดคลายกังวลและลดความผันผวนได้
อย่างไรก็ตามการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลกับตลาดเงินและค่าเงินโดยตรง เนื่องจากยิ่งส่วนต่างดอกเบี้ยมากเท่าไหร่ค่าเงินในประเทศนั้นจะผันผวนมากขึ้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุด จากปัจจุบันมีดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1 สตางค์ ซึ่งการที่ญี่ปุ่นไม่มีท่าทีจะขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่น ขณะที่ยุโรป จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4/65 ส่วนจีน ดำเนินนโยบายสวนทาง โดยการลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ด้วยเงินเฟ้อของจีนไม่สูงจึงทำได้
ด้านประเทศไทย มีเงินเฟ้ออยู่ราว 4-5% มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3/65 หรือไตรมาส 4/65 เนื่องจากหากดูจากในอดีตดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ ไม่เคยแตกต่างกันถึง 1% และถ้าหากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเผชิญกับเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีกในครึ่งปีหลังนี้
นายวิทวัส กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ในเรื่องของค่าเงินบาทสิ่งที่ต้องจับตาดู คือ เงินเฟ้อของสหรัฐ ว่าเป็นอย่างไร และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ รวมถึงส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐ หากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นขณะที่ไทยไม่ขึ้น อาจจะมีภาวะเงินไหลออกและส่งผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้อีก
"หัวใจสำคัญของค่าเงิน คือ ส่วนต่างของดอกเบี้ย ซึ่งสิ่งที่เราอยากรู้คือ เฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ แต่หากดูสิ่งที่เฟดพยายามบอกทั่วโลกว่าดอกเบี้ยสิ้นปีจะอยู่ที่ 2.75-3.7% แต่ตลาดไม่เชื่อ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงระดับ 7-8% ดอกเบี้ยควรจะอยู่ที่ 3.5-4% ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง รวมถึงการดึงสภาพคล่องกลับ เหมือนเป็นหลุมดำ ทำให้ค่าเงินเป็นด่านแรกที่จะได้รับผลกระทบ" นายวิทวัส กล่าว
สำหรับวิธีการรับมือกับความผันผวน สิ่งแรกคือ ต้องมั่นใจใน Fundamental ซึ่งดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นเป็นปกติที่เงินก็จะไหลไปยังประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า และต้องมีสติ เนื่องจากในโลกโซเชียลเปลี่ยนแปลงได้ตลอด สำหรับผู้ส่งออก นำเข้า ให้ใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน