นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวในงาน "ถามมา...ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า" ในช่วงเสวนา หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร" ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่ามีการพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งภาพรวมในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ได้ผ่านการดำเนินงานในเฟส 1 ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างสนามบิน และท่าเรืออีก 2 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท รวมกับโครงการของภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออีก 9 แสนล้านบาท รวมทั้งหมดเป็น 1.7 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้ EEC อยู่ในระหว่างการดำเนินการในเฟส 2 ที่ตั้งแผนการลงทุนไว้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ศูนย์การแพทย์, BCG, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (โรบอติก) และโลจิสติกส์ ฮับ เป็นต้น
เลขาธิการ EEC กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเฟส 2 นี้ จะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในส่วนของ 5G นั้น ไทยมีการประมูล 5G เร็วกว่าประเทศอื่นในอาเซียน และขณะนี้ 5G ใน EEC ถือว่ามีความพร้อมเต็มที่แล้ว นอกจากนี้ การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้น ในประเทศไทยถือว่านโยบายอีวีดีที่สุดในอาเซียน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการเข้ามาลงทุนของกลุ่มยานยนต์จากจีน และญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าในจุดนี้ ไทยจะสามารถรักษาฐานการผลิตรถยนต์ไว้ได้ต่อไป
นายคณิศ กล่าวด้วยว่า EEC ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของประเทศ เป็นพื้นที่สะสมเทคโนโลยีและการลงทุนของคนรุ่นใหม่ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคมในการร่วมวางโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบีโอไอที่ให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ทำให้มีการลงทุนในพื้นที่นี้ไม่ต่ำกว่าปี 3-4 แสนล้านบาท และสามารถเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 1.5% ซึ่งหากเดินได้ตามแผนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างน้อยปีละ 5% ตามแนวทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และสามารถเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า ขอเพียงแต่คนไทยต้องไม่ดูถูกตัวเอง
"การเติบโตของเศรษฐกิจไทย 5% เฉลี่ยทุกๆ ปีนั้น EEC จะมีส่วนช่วยได้มาก เราจะเห็น EEC เป็นแหล่งลงทุน สร้างเทคโนโลยี ทำให้คนในพื้นที่มีความสุขมากขึ้น มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน เป็น community base ไม่ต้องพึ่งพาใคร เพราะครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว หลายพื้นที่ในไทยเหมาะที่จะทำแบบนี้ หลายประเทศที่ทำแบบนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้" นายคณิศ ระบุ