นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคน" ในงาน Better Thailand โดยระบุว่าส่วนหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น คือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลได้เห็นความสำคัญในส่วนนี้ และประกาศให้ปี 2565 เป็นปีของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น มีสาเหตุและที่มาที่หลากหลายต่างกันไป การก่อหนี้แต่หากทำให้เกิดรายได้กลับเข้ามานั้น จะถือว่าไม่เป็นปัญหา แต่หากก่อหนี้จนเกินความสามารถในการชำระคืน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถ ตลอดจนหนี้นอกระบบ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักมาจากการที่ประชาชนไม่มีความสามารถในการจัดการบัญชีครัวเรือน ขาดความรู้ด้านการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำวัคซีนด้านการเงิน ซึ่งเป็นแผนในการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชน รวมทั้งดูแลการออกนโยบายไม่ให้มีการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น แต่หากจะเป็นหนี้ก็ต้องเป็นหนี้ที่สามารถสร้างรายได้กลับมาให้ประชาชนได้
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการ คือ การจัดทำฐานข้อมูลในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะออกแบบนโยบายและดูแลแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในระดับฐานรากได้ และสิ่งที่จะดำเนินการอีกเรื่อง คือ การทำให้ครัวเรือนตระหนักถึงคามสำคัญในเรื่องการออม และรณรงค์เรื่อง "สมการครอบครัว" คือ รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย กล่าวคือ เมื่อมีรายได้แล้วจะต้องจัดสรรไว้เป็นเงินออมส่วนหนึ่งก่อน และส่วนที่เหลือจึงจะเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการออมเงินเพื่อมีไว้ใช้จ่ายในอนาคต
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นเรื่องที่ธปท. และกระทรวงการคลังให้ความสำคัญ การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้นั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกนโยายตลอดจนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ และช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ลูกหนี้ต้องมีวินัยทางการเงินด้วยเช่นกัน ส่วนในฝั่งของเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงิน ธปท.ก็มีการทำไกด์ไลน์ของการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) เป็นผู้ให้กู้ที่มีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ โดยสร้างความตระหนักถึงการก่อภาระหนี้ที่ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
นายรณดล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะได้เห็นต่อจากนี้ คือ การทำนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้สอดประสานกันของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศน์ของฐานข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น หรือเป็น Better Thailand นั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเร่งเดินหน้าเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบ และแรงงานนอกระบบ โดยจะพยายามให้แรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ เช่น มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ขับแท็กซี่ หาบเร่แผงลอย ได้เข้ามาอยู่ในระบบฐานข้อมูล เพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐได้ตรงวัตถุประสงค์ และอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ