นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ว่า การประชุมเอเปกตลอด 2 วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปกในการผลักดันและกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" หรือ Open Connect Balance
"ผลการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะหัวข้อหลักที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Open Connect Balance เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลเป็นรูปธรรม ทั้งจากความเห็นของที่ประชุมและที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต" นายจุรินทร์กล่าว
โดยในเรื่องของ Open คือการเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ผลรูปธรรมที่ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันคือการที่เราจะนำเอเปค ไปสู่การจัดทำ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ให้เกิดขึ้นในอนาคต สำหรับเรื่อง Connect หรือการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจทั้งในส่วนของบุคคลหรือสินค้าและบริการ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า APEC Safe Passage Task Force เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และ Balance หรือสร้างสมดุล มีความเห็นที่ตรงกันในทุกเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมให้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ ตั้งแต่คนตัวใหญ่จนกระทั่งถึงคนตัวเล็ก ในระดับ SMEs และ Micro-SMEs เรงงาน ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สตรีและอื่นๆ
"สัญญาณอีกข้อ ที่สะท้อนความสำเร็จของประเทศไทย คือการที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้ยอมรับ และสนับสนุน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย ให้เป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกในอนาคต" นายจุรินทร์กล่าว
พร้อมยอมรับว่า การประชุมครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมเอเปกได้เช่นเดียวกับบางครั้งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะมีผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงหรือแถลงการณ์ของประธานการประชุมเอเปก คือประเทศไทยในรูปของ Chair Statement แทน ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการยกร่างและจะประกาศเป็นทางการในรูปเอกสารต่อไป
"แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ จะไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ และประเทศไทยเคารพความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทยยังพร้อมทำงานร่วมกับเอเปกอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง FTAAP การสนับสนุนการค้าในรูปแบบพหุภาคีรวมทั้ง WTO และการจับมือเดินไปด้วยกันอยู่ร่วมกันกับโควิดและอนาคตต่อไป" นายจุรินทร์กล่าว
อนึ่ง แถลงการณ์ร่วมจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นฉันทามติ ถ้ามีแม้เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถประกาศได้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเนื่องจากมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในการให้มีแถลงการณ์ร่วม เพียงแต่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เห็นไม่สอดคล้องกัน บางเขตเศรษฐกิจเห็นไม่ตรงกัน เป็นที่มาที่ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้
ทั้งนี้ ที่ประชุม MRT ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากสมาชิกบางเขตเศรษฐกิจ มีความเห็นขัดแย้งกันในบางประเด็นที่ไม่สามารถยอมรับได้ ส่งผลให้ประเทศไทยในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้จำเป็นต้องออกแถลงการณ์ของประธานแทน โดยสมาชิกเอเปก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังคงประท้วงรัสเซียเช่นเดิม โดยไม่เข้าห้องประชุมในช่วงที่นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รมว.การพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวในที่ประชุม
ขณะที่ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกวันแรกเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้กล่าวถึงกรณีที่ทั้ง 5 ประเทศวอล์คเอาท์ หรือเดินออกจากห้องประชุมในช่วงที่นายเรียชเชสนิคอฟ กล่าวในที่ประชุม เพื่อแสดงการประท้วงรัสเซียกรณีใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครนว่า ในภาพรวมการประชุมครั้งนี้ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในฐานะประธานที่ประชุมมั่นใจว่าทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามเป้าหมาย ส่วนเขตเศรษฐกิจใดจะมีความเห็นอย่างไรและดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละเขตเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่หากไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ จะถือว่าการประชุมครั้งนี้ล้มเหลวหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ถือว่าล้มเหลว หากออกแถลงการณ์ไม่ได้ ก็จะเป็นการออกแถลงการณ์ของประธานการประชุม ซึ่งไม่กังวลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ทั้งนี้ กลุ่มเอเปกประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม