กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.29 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.25-34.72 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินย่อลงต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี และเป็นการปรับฐานลงครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม
ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความมุ่งมั่นว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจน โดยเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกมากเท่าใดและเร็วแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเฟดจะประเมินในแต่ละรอบการประชุมและจะพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายของเฟดจะแตะระดับ 2.75-3.00% ภายในสิ้นปีนี้ จาก 0.75-1.00% ในปัจจุบัน
ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แสดงความเห็นที่หนักแน่นมากขึ้นต่อความจำเป็นสำหรับการปรับนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินยูโรได้แรงหนุนจากช่องว่างนโยบายการเงินระหว่างเฟดกับอีซีบีที่อาจแคบลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 9,362 ล้านบาท และ 12,604 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า ตลาดจะติดตามรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 3-4 พ.ค.65 และข้อมูลใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดหลายรายการเริ่มบ่งชี้การชะลอตัว เรามองว่าอาจเร็วเกินไปที่ค่าเงินดอลลาร์จะพลิกแนวโน้มกลับเป็นขาลงในเวลานี้ อย่างไรก็ดี เริ่มมีสัญญาณเบื้องต้นว่าดอลลาร์ไม่ตอบสนองเชิงบวกต่อการปิดรับความเสี่ยง บ่งชี้ว่าตลาดกำลังกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันบอนด์ยิลด์ในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดแสดงท่าทีวิตกต่อภาวะตลาดการเงินตึงตัวและระมัดระวังต่อการคุมเข้มนโยบายในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ นักลงทุนบางส่วนมีความหวังว่าเศรษฐกิจจีนผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วขณะที่จีนจะกลับมาเปิดกิจกรรมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกครั้ง
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะรายงานข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือน เม.ย.65 ทางด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามสหรัฐฯ เนื่องจากต้องดูปัจจัยภายในเป็นหลัก ขณะที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนขณะนี้ยังไม่เป็นประเด็น อีกทั้งไทยมีฐานะด้านต่างประเทศที่มีเสถียรภาพสามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ทางการมองค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงเกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่ง ธปท.จะติดตามใกล้ชิด