น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้ดิจิทัลไอดีนิติบุคคลที่อยู่ระหว่างพิจารณาให้ทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ร่วม หรือโคแซนด์บ็อกซ์ คาดว่าจะได้เริ่มเห็นในครึ่งหลังของปี 65
โดยที่ผ่านมา NDID เริ่มต้นจากภาคการเงินเป็นหลัก เข้าทดสอบสู่แซนด์บ็อกซ์ของ ธปท. ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการทางการเงิน มาตั้งแต่ปี 63 โดยผลดำเนินงานแซนด์บ็อกซ์ทุกโครงการที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกปี 65 มีทั้งหมด 78 โครงการ และออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 38 โครงการ
ทั้งนี้มีผู้ทดสอบออกจากแซนด์บ็อกซ์แล้ว 38 ราย และกำลังจะออกอีก 10 รายในไตรมาส 2/65 รวมจะมีผู้ทดสอบออกจากแซนด์บ็อกซ์ 48 ราย ด้านทดสอบสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to Peer Lending หรือ P2P Lending) ออกจากทดสอบแล้ว 1 รายให้บริการแล้ว และปล่อยสินเชื่อ 57 ล้านบาท จำนวน 800 สัญญา คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-7% จากตามเพดานกำหนดไม่เกิน 15% ต่อปี
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า ขณะที่การทดสอบนวัตกรรมการเงินใหม่ เช่น ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ขณะนี้ต้องรอเกณฑ์ที่จะออกมาก่อนถึงจะเห็นภาพชัดเจน เช่นเดียวกับ Digital Currency ที่ก่อนหน้านี้มีธนาคารเสนอว่าอยากให้ ธปท.เปิดทดสอบเรื่องนี้ในแซนด์บ็อกซ์นั้น ต้องรอธปท.มีกฎเกณฑ์สามารถนำมาใช้กับประชาชน หรือผู้ใช้บริการอื่นได้ ในเรื่องการทดสอบจะมีกรอบออกมาทดสอบได้ ซึ่งกำลังพิจารณาร่วมกับกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ปัจจุบันความคืบหน้า Digital ID มีหน่วยงานเข้าร่วม 94 หน่วยงาน มีลูกค้าลงทะเบียน 5.1 ล้านราย เปิดบัญชีเงินฝากผ่าน NDID 7.5 แสนบัญชี ขอข้อมูลเครดิตบูโร 8.1 ล้านรายการ ส่วนยอดผู้ใช้งานโอนเงินพร้อมเพย์ 69.5 ล้านไอดี ขยายตัว 22.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ปริมาณโอน 39.6 ล้านรายการต่อวัน มูลค่า 1.11 แสนล้านบาทต่อวัน