นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ "สภาวะแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงิน" ในงานสัมมนา "New Chapter เศรษฐกิจไทย" ว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 หลาย ๆ ประเทศต้องเจอวิกฤตรุมเร้าเหมือน ๆ กันที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น การดูแลฐานะการคลังและการเงินของไทย แม้ว่าการคลังยังมีเสถียรภาพ แต่ก็มีเครื่องมือในการกระตุ้นหลือน้อยลง เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58% ของจีดีพี และต้องมีการจัดงบประมาณขาดดุลทุกปีโดยคาดว่าหนี้สาธารณะจะขึ้นอยู่ที่ 67% ของจีดีพีในปี 69
ดังนั้น เมื่อพ้นวิกฤตต้องจัดการกลับมาอยู่ 60% จีดีพี ให้มีกระสุนด้านการคลัง เพื่อให้มีความสามารถในการใช้นโยบายในอนาคตได้ โจทย์ของการหารายได้ และการบริหารงบประมาณที่มีจำกัด จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงเรื่องของความเหลื่อมล้ำและเห็นต่างในสังคมที่สูงขึ้น จากโควิด-19 ที่กระทบรายได้โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก แม้ธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายการลงทุน แต่การว่างงานและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบสังคมกระทบเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งมากขึ้นหลังโควิด และความขัดแย้งทางความเห็นในสังคมโซเชียล ถ้าไม่แก้ไขก็เป็นความเสี่ยงของประเทศ รวมทั้ง คุณภาพคนถดถอย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง เด็กยากจนต้องหลุดจากการศึกษา นักศึกษาจบใหม่หางานทำไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในการทำงานระยะยาว
"เศรษฐกิจไทยยังอยู่บนพื้นฐานการขยายตัวบนความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย การปรับนโยบายการเงินของประเทศต่าง เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลสมดุลเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ย คงต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ของไทยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% แนวโน้มต่อไปคงต้องปรับขึ้นขอดูจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา"