สภาพัฒน์ เดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หนุนฟื้นเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2022 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยได้มีการกำหนดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด ดังนี้

  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน โดยแนวทางสำหรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือนั้น เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืนโดยจะดำเนินการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพ การสร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ล้านนา
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 4 จังหวัดถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคที่มีศักยภาพด้านการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (โปรตีนแทนเนื้อสัตว์จากพืชและโปรตีนจากแมลง)
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทั้ง 4 จังหวัดถือว่าเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาค ทั้งด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์เพื่อให้ภาคกลาง-ตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและกระจายสินค้า
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นจุดศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในฝั่งอันดามัน (BIMSTEC) เป็นประตูการค้า Western gateway และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

สำหรับโครงการทั้งหมดที่จะดำเนินการในช่วงปี 65 - 75 ของแต่ละภาค มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่รวมประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยหากดำเนินการสำเร็จคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีของประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 5.8% ต่อปี ตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสำหรับการฟื้นตัวหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงในอนาคต

สำหรับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ต้องใช้เวลาและต้องดูกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งตั้งเป้าให้เกิดภายใน 2 ปีหลังจากนี้ แต่การที่เอกชนจะตัดสินลงทุนต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย และดูพื้นฐานในพื้นที่ และดูเรื่องการตลาดด้วย เป็นเรื่องที่เอกชนตัดสินใจ ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์มาแล้ว ทางสภาพัฒน์คงจะต้องไปจัดทำ Market Sounding กับภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ดึงดูดนักลงทุนต่อไป อย่างไรก็ตาม คงมีการให้สิทธิประโยชน์ส่วนหนึ่งเหมือนกันในทุกพื้นที่ แต่อาจจะมีสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการให้เกิดในพื้นที่

นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และต้องการให้ทั้ง 4 ภาคเป็นแหล่งงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เพราะการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ มีความแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือ ที่เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะในพื้นที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายที่สามารถสร้างมูลค่าขึ้นมาได้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตภาคการเกษตร และมีความหลากหลายทางชีวภาพ, ภาคกลางอยู่ใกล้อุตสาหกรรมใหม่ๆ ใกล้กับอิสเทิร์นซีบอร์ด สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หรืออุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนในภาคใต้มีน้ำมันปาล์มอยู่ เป็นจุดเชื่อมต่อไปออกฝั่งตะวันตก จึงพยายามกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ และการพัฒนาพื้นที่ช่วยลดการย้ายแรงงาน เพราะแรงงานในพื้นที่จะได้ไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งถือได้ว่า ได้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ในพื้นที่ และได้ประโยชน์เชิงสังคมมีความมั่นคงมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ