กอบศักดิ์ มองโลกเสี่ยงวิกฤติรอบใหม่จากพลังงาน-อาหาร,เตือนอย่าหวังพึ่งแค่ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2022 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในหัวข้อ "เศรษฐกิจ-โอกาส-ความท้าทายใหม่" ในงานสัมมนา "New Chapter เศรษฐกิจไทย" ว่า เศรษฐกิจโลกหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ยังเผชิญความท้าทายค่อนข้างมาก และมีโอกาสนำพาไปสู่วิกฤติใหม่ เนื่องจากโลกยังเผชิญกับปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ได้แก่ วิกฤติความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งนำไปสู่วิกฤติราคาพลังงาน และวิกฤติขาดแคลนอาหาร จากราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น และหลายประเทศมีนโยบายห้ามส่งออกสินค้าเกษตรในกลุ่มอาหาร

ขณะเดียวกัน ปัจจัยข้างต้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือว่าปัญหาอาจเกิดมาจากการประเมินที่ผิดพลาดของประธานเฟดนำไปสู่ลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมากเกินไป และการอัดฉีดสภาพคล่องออกมามาก ทำให้เป็นสาเหุตหลักสาเหตุหนึ่งของเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆที่จะตามมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจะเริ่มเห็นว่าทางเฟดริ่มเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยความพยายามลดเงินเฟ้ออย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากการประเมินที่ผิดพลาด ซึ่งจะเห็นว่าการส่งสัญญาณล่าสุดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ โดยหากมองเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯที่ระดับ 5-6% แสดงว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ไปถึง 3-4% หากเงินเฟ้อยังอยู่ไนระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้แรงกว่าที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มของตลาดเงินและตลาดทุนยังเผชิญกับความผันผวนได้อีกมาก

"ตลาดเงินตลาดทุนโลกยังคงเผชิญความปั่นป่วนได้อีกมาก เพราะตอนนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และจะเริ่มการดูดสภาพคล่องกลับ และเขาคงไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร หน้าที่เขาคือการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งทุกคนจะต้องเตรียมตัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มในการที่เศรษฐกิจมีโอกาสเกิด Recession และปัญหา Emegin Debt Crisis ได้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับประเทศไทย นายกอบศักดิ์ มองว่า ควรเริ่มผลักดันกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ให้ฟื้นกลับมาได้เร็ว หลังจากที่ผ่านมาภาคการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก เพราะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 66 มองว่าภาคการส่งออกจะเริ่มเห็นการชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ทำให้การพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลักเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

แต่ในปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาฟื้นขึ้นบ้างแล้ว จากการกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการโปรโมทกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ เกิดการใช้จ่าย และสร้างการจ้างงานในภาคบริการกลับมา

ขณะที่ภาครัฐยังต้องเร่งลงทุนโครงการต่างๆ ที่ยังล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ภาครัฐจะต้องเร่งเดินหน้าเพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นโครงการที่ช่วยเข้ามาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการมองหาโอกาสในการลงทุนพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย และกระจายรายได้ไปตามพื้นที่ต่างๆ

รวมถึงการนำโครงการ Western Gateway เข้ามาทบทวนพิจารณาในการเตรียมพร้อมลงทุน เพื่อสร้างโอกาสในการดึงดูดกลุ่มประเทศคู่ค้าฝั่งเอเชียใต้ให้เข้ามาในประเทศไทย และเป็นการสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจไม่พึ่งพิงภูมิภาคด้านใดด้านหนึ่ง

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการก้าวไปสู่บทบาทใหม่ต่อไปของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการบริหารและจัดการทางด้านการคลังอย่างมีวินัยที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณในการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐที่คำนึงถึงผลในระยะยาวและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ จากการบริหารจัดการการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ