นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวในงานเสวนา "4 ปี EEC ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติ อย่างยั่งยืน" ว่า ถึงแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่การดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากกว่าตามแผนงานระยะที่ 1 ซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี แต่สามารถดำเนินการได้ภายใน 4 ปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐเพียง 9.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าทั้งหมด สามารถดึงการลงทุนภาคเอกชนได้มากถึง 1.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาท และแผนงานระยะที่ 2 จะมีการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท
"ถึงแม้จะมีแผนงานที่ดี โครงการที่ดี งบประมาณที่ดี แต่หากคนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาก็จะไม่ประสบความสำเร็จ" นายคณิศ กล่าว
สำหรับการลงทุนในโครงการ EEC จะมีการเลือกสรรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญทั้ง 4 อย่าง ใช้เม็ดเงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาท โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของภาครัฐ ได้แก่ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) , ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือมาบตาพุด, สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายเสร็จเรียบร้อยภายในปี 68 และเปิดให้บริการในปี 69
แนวทางการลงทุนในอนาคตบางอุตสาหกรรมอาจมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าที่จะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นคลัสเตอร์ ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียว
น.ส.นงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการให้ก้าวหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤต ได้แก่ ภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องภูมิศาสตร์เพราะตั้งอยู่จุดกลางภูมิภาค ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างมุ่งที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้ทานกลาง นอกจากนี้ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และมีความสามารถในการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันได้มีการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติใหม่ ซึ่งไม่ใช่มาตรการเดิมๆ เช่น การยกเว้นภาษี แต่ยังมีจุดอ่อนที่เสียเปรียบเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามที่มีการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว
"แนวโน้มการลงทุนในพื้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถพลังงานไฟฟ้า การแปรรูปพลาสติกเป็นน้ำมัน" น.ส.นงนุช กล่าว
นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี 5G ช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เม็ดเงินที่ลงทุนเรื่องนี้ไป 2 แสนล้านบาทจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับมา 10 เท่า แม้ที่ผ่านมาเรามีจุดอ่อนที่ไม่มีนักเทคโนโลยีต้นน้ำ แต่ขณะนี้พบว่าเรามีคนที่สามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดได้ดี ทำให้การพัฒนาอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน
"ผมไปพบชาวนาที่สามารถใช้งานโดรนได้ดี โดยเขาบอกว่าเรียนรู้จากการดูยูทูป" นายชิต กล่าว
นายธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการฯ สกพอ. สายงานพื้นที่และชุมชน กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อีอีซี 8 ล้านไร่ ที่มีคนอยู่ราว 3 ล้านคน จะมีการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีรายได้ดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี โดยมีการจัดทำแผนงานที่บูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงาน เช่น การพัฒนาตลาด การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน