สศค.ย้ำจำเป็นลดดบ.ในปท.หลังแรงกดดันเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นจากเฟดลดดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 19, 2008 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศมีเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่จะมีมากขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.75% เมื่อคืนนี้ แต่ก็ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยของไทย
อย่างไรก็ตาม ธปท.คงต้องหามาตรการตั้งรับเงินทุนจากต่างประเทศที่จะไหลเข้ามามากขึ้นด้วย หลังจากที่ได้ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ไปแล้ว เพราะเงินที่ไหลเข้ามามากจะเกิดผลกระทบกับหลายด้าน โดยเฉพาะต่อค่าเงินบาท
"ช่วงที่มีการยกเลิกมาตรการ 30% ก็มีข้อเสนอให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่ได้ลดลง มาตอนนี้ยิ่งมีแรงกดดันหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยลงแล้วทำให้มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น" นางพรรณี กล่าว
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ สศค.จะพิจารณาปรับประมาณการทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง โดยจะมีการปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมาจากสาเหตุหลักจากอำนาจต่อรองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และการเก็งกำไรของกองทุนในต่างประเทศ
ตามทฤษฎีแล้วราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของไทยประมาณ 0.3%
แต่แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกอีกหลายตัวที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เช่น การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์
ขณะเดียวกันด้านการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐไม่มากนัก เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ขยายตลาดใหม่เพื่อเพิ่มสัดส่วนการส่งออกทดแทนการพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นตลาดหลัก
นางพรรณี กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ โดยวานนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาหามาตรการรองรับปัญหาราคาน้ำมันแพง เนื่องจากเกรงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนในระดับรากหญ้า
นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังสั่งการให้ สศค.ศึกษาแนวทางปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบบูรณาการ โดยให้นำแนวทางจากต่างประเทศมาเป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้การปรับเงินเดือนข้าราชการส่งผลกระทบกับส่วนอื่นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ