นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากนำนักธุรกิจร่วมคณะกับรัฐบาลเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 15-18 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว สภาหอการค้าฯ ได้จัดการประชุม โดยเชิญผู้ประกอบการทั้ง 38 บริษัทที่ร่วมคณะเดินทางมาหารือถึงความคืบหน้าในการเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนซาอุฯ รวมถึงโอกาสที่แต่ละบริษัทเห็นจากการจากการเข้ารวมคณะศึกษาดูงาน และการทำ Business Matching กับนักธุรกิจซาอุฯ
"ในเบื้องต้นประเมินว่า โอกาสในการทำการค้าระหว่างกันภายในปีนี้ จะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่จะมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนไทยต้องการเพิ่มเติม คือ ข้อมูล ทั้งข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการลงทุน และการรับรองมาตรฐานสินค้า ข้อมูลการซื้อสินค้าในเชิงลึกที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐของไทยเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวให้กับภาคเอกชนด้วย เพื่อให้ภาคเอกชนมีข้อมูลก่อนการเดินทางไปเจรจาธุรกิจ นอกจากนั้น ยังขอให้ตั้ง focal point ฝ่ายไทยประจำที่ซาอุดิอาระเบีย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนซาอุฯ อีกด้วย" นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและ Wellness ได้รับการตอบรับและมีการเจรจาธุรกิจมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ซึ่งความต้องการจากทางซาอุฯ มีทั้งการเชิญชวนไปร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล การจัด Course training ให้กับบุคลากรในธุรกิจ Wellness รวมทั้งการตอบรับที่ดีในการมารักษาพยาบาลในไทย ทั้งนี้โอกาสในการทำเรื่อง Medical hub และสินค้าสุขภาพก็ยังเปิดกว้าง โดยทางซาอุฯ ต้องการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการจากไทยอีกด้วย
นอกจากนั้น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และสีเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายซาอุฯ เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องของซาอุฯ จึงมีโอกาสทั้งการส่งออกและการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างกัน ทั้งการสร้างเมืองอัจฉริยะ การออกแบบอาคารและเมือง เรื่อง supply สินค้าต่างๆ เช่น Solar Cell เป็นต้น
สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร โดยปกติจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปที่ซาอุฯ อยู่แล้ว แต่การเดินทางไปครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนซาอุฯ รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ทั้งอาหารฮาลาล อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และผลไม้ไทย ทำให้มีบริษัทนำเข้าสินค้ามาติดต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการจากซาอุฯ อาทิ ไก่ ปลา กุ้ง อาหารสัตว์ น้ำมะพร้าว รวมถึงอาหารไทย และข้าวไทย ซึ่งควรมีการทำการตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังถูกห้ามนำเข้าอยู่ จึงเป็นความพยายามที่ภาครัฐต้องหาทางเจรจาผ่อนคลายสินค้าต่อไป รวมไปถึงการทำ FDA และการขอ อย.ด้วย
นายสนั่น กล่าวว่า นอกจากอาหารคนแล้ว อาหารสัตว์เลี้ยงก็เป็นสินค้าที่ซาอุฯ สนใจ เนื่องจากเลี้ยงแมวเยอะ ส่วนธุรกิจสายการบิน ก็มีการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน ธุรกิจศูนย์การค้า Shopping Mall ทางซาอุฯ ก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ส่วนด้านเทคโนโลยีก็มีการคุยกันถึง Telemedicine, Gaming และ IOT platform ของเมืองอัจฉริยะร่วมกัน โดยจะมีการศึกษาในรายละเอียดและกฎระเบียบต่างๆ ร่วมกันต่อไป
ด้านแรงงานในภาพรวม ซาอุฯ ต้องการแรงงานของไทยไปทำงานในหลายสาขา ตั้งแต่ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล แรงงานฝีมือในการก่อสร้าง และยานยนต์ ซึ่งเป็นโอกาสของนักศึกษาสายอาชีวะที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเร็วๆนี้จะมีนักธุรกิจซาอุฯ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานในประเทศไทยต่อไป อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีการเชิญนักธุรกิจซาอุฯ ที่สนใจมาดูโรงงานผลิตรถ BEV ของไทย รวมทั้งยังสนใจรถดัดแปลงต่างๆ ซึ่งจะมีการส่งช่างมาอบรมที่ประเทศไทยด้วย ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะมีการประสานงานกับภาคเอกชนกันอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือดังกล่าว มีทั้งการนำเข้าสินค้าจากซาอุฯ และการส่งออกสินค้าของไทย เช่น ธุรกิจอัญมณี ก็มีการออกแบบและเจรจาร่วมกันบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 4-7 ก.ค.นี้ ซาอุฯ จะจัดคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี เป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างกัน และเป็นการสร้างโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนให้กับซาอุฯ ในการขยายการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนต่อไป หอการค้าฯ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็น Regional Hub ใน ASEAN เพราะทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ไป Roadshow ร่วมกับภาคเอกชน และได้มีการศึกษาลู่ทางต่างๆ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง ธุรกิจพลังงาน และปิโตรเคมี ซึ่งคงมีความคืบหน้าต่อไปอย่างแน่นอน