นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 91.79 ขยายตัว 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 1.37%
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 58.91% ลดลงจาก 69.33% ในเดือน มี.ค. 65 ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 64.63%
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต เดือนเม.ย. 65 ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาท ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคการส่งออก (เดือน เม.ย. 65 เงินบาทอ่อนค่าลง 3.08% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 65) ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก และการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมยังคงขยายตัว 12.53% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 รวมทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ยังคงส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนเม.ย. 65 ขยายตัว 11.4%