นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 55,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง คือ การจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และการจำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทน คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิย์ และธนาคารกสิกรไทย วงเงิน 45,000 ล้านบาท
"ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ของไทย รวมถึงสินทรัพย์ในทุกตลาดทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความกังวลจากสถานการณ์โลก สบน. จึงเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกในการออมการลงทุน และปรับพอร์ตการลงทุนสำหรับนักลงทุน จำหน่าย 2 รุ่นอายุ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.50% ต่อปี ซึ่งผู้ลงทุนจะมีรายรับสม่ำเสมอจากดอกเบี้ย และได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด...ซึ่งเงินที่ระดมทุนได้ จะนำมาเพื่อใช้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ" นางแพตริเซีย กล่าว
สำหรับการจำหน่ายพันธบัตรฯ ผ่านทางวอลเล็ต สบม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท จะเปิดจำหน่าย 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.90% ต่อปี โดยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ปีที่ 3-4 อัตราดอกเบี้ย 3% ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.60% ต่อปี โดยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ปีที่ 3-6 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ปีที่ 7-8 อัตราดอกเบี้ย 4% และปีที่ 9-10 อัตราดอกเบี้ย 4.50% ซึ่งจะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ 13 มิ.ย.-30 มิ.ย. 65 หรือจนกว่าจะครบวงเงิน โดยจำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินซื้อขั้นต่ำ 100 บาท/ราย และวงเงินซื้อไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย
ส่วนการจำหน่ายพันธบัตรฯ ผ่าน 4 ธนาคารตัวแทน วงเงิน 45,000 ล้านบาท จะเปิดจำหน่าย 2 รุ่นเช่นกัน คือ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.90% ต่อปี โดยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ปีที่ 3-4 อัตราดอกเบี้ย 3% ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ย 3.60% โดยปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ปีที่ 3-6 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ปีที่ 7-8 อัตราดอกเบี้ย 4% และปีที่ 9-10 อัตราดอกเบี้ย 4.50%
โดยจะจำหน่าย 2 ช่วง ดังนี้
- ช่วงที่ 1 (15-19 มิ.ย.65) วงเงิน 40,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.90% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.60% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถซื้อได้ผ่านช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
- ช่วงที่ 2 (20-30 มิ.ย.65) จำหน่ายให้แก่ประชาชน และนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แบบไม่จำกัดวงเงินการซื้อ โดยจำหน่ายให้ประชาชนในวงเงินคงเหลือจากช่วงที่ 1 ด้วยรุ่นอายุและเงื่อนไขเดียวกัน และจำหน่ายให้นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.30% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ซึ่งในรอบการจำหน่ายนี้ ได้เพิ่มนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อด้วย โดยจะพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อจากข้อบังคับนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมที่ดินหรือสำนักงานเขต และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
"วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะไม่นับรวมกัน ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลังสามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม" ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว
นางแพตริเซีย กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลัง มีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรต่าง ๆ ทั้งสิ้น 1.1-1.3 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งได้ปรับแผนการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็น 1.65 แสนล้านบาท สูงสุดเท่าที่เคยดำเนินการมา จากเดิมที่ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูง ขณะที่อัตราผลตอบแทนก็ได้ปรับให้สะท้อนสภาพตลาดที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก
"แผนการระดมทุนของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2565 ที่ 1.1-1.3 ล้านล้านบาทนั้น การดำเนินการจริงคงยึดขอบล่างเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดโอเวอร์ซับพลายมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เริ่มทยอยกลับมาลงทุนในพันธบัตรมากขึ้นด้วย การดำเนินการของ สบน. จะพิจารณาอย่างรอบคอบให้อยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดรับได้ ไม่มากจนเกินไป" นางแพตริเซีย กล่าว
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะส่งผลกระทบกับการกู้เงินของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมา สบน. ได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างต่อเนื่อง โดยการกู้เงินส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งจะช่วยทำให้มีการล็อกต้นทุนได้เป็นอย่างดี และยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ในการช่วยบริหารจัดการด้วย
"การกู้เงิน ก็ไม่ได้ดูแค่การกู้ระยะสั้น แต่ดูความเหมาะสมเป็นหลัก เพราะหากกู้ระยะสั้นมากเกินไป ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงเรื่องต้นทุนได้เช่นกัน" ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว