นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565 ว่า ได้รับปัจจัยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
- เศรษฐกิจภาคใต้
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 19.0% และ 5.6% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรขยายตัว 30.2% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 23.4% และ 2.0% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 44.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.4 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม) ในจังหวัดชุมพรเป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 65.0% และ 141.8% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 37.3 และ 83.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.4 และ 86.8 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคตะวันออก
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 38.0% และ 22.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 273.0% ด้วยเงินทุน 7.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และผลิตไอน้ำ ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -10.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 204.3% และ 223.3% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 43.7 และ 109.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.8 และ 111.6 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคเหนือ
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัว 6.6% และ 11.7% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลง -14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 9.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -3.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 67.2% และ 70.3% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 43.8 และ 62.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.9 และ 64.8 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัว 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -9.7% แต่ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคา และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนสะท้อนจาก สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 404.9% ด้วยเงินทุน 3.5 พันล้านบาท จากโรงงานการทำอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลง -0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 192.3% และ 177.5% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 45.1 และ 79.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.2 และ 83.5 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจกทม. และปริมณฑล
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -7.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลง -11.1% และ -9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 3.2% และ 7.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -2.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 170.4% และ 145.4% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 38.9 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.3 และ 87.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคตะวันตก
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจาก รายได้เกษตรกรขยายตัว 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2% ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอตัวลง -0.1% และ -10.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แต่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.04% และ 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 189.1% และ 114.1% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 40.1 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.4 และ 87.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคกลาง
ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าจะชะลอลง -2.2% และ -11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 9.2% และ 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 226.3% และ 176.7% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 40.1 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.4 และ 87.7 ตามลำดับ