พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในปี 65 - 67 รวม 3 ปี วงเงินปีละ 2,000 บาท รวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะรับชดเชยดอกเบี้ยให้ตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้ขยายเป็นระยะที่ 3 โดยจะได้มีการนำข้อมูลแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลเรื่องการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ตามบริบทสถาพแวดล้อมของชาวไร่อ้อยที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกกลุ่ม
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 65 - 67 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท และรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ย 2 - 3% ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่ง ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การปรับพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นแปลงใหญ่ และการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ใช้ในการปลูกอ้อยและบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างครบวงจร โดยวงเงินกู้แยกตามวัตถุประสงค์การกู้ ซึ่งวงเงินกู้แต่ละรายรวมทุกวัตถุประสงค์แล้วต้องไม่เกิน 38.05 ล้านบาท ดังนี้
1)เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เช่น การขุดบ่อสระ กักเก็บน้ำ การเจาะบ่อบาดาล การจัดทำระบบน้ำ
2)เพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นแปลงใหญ่ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรกลการเกษตร รายละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท
3)เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 3 ปี (1 ต.ค.2564 ? 30 ก.ย.2567)
สำหรับระยะเวลาการชำคืน แบ่งเป็นเงินกู้การบริหารจัดการน้ำและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ไม่เกิน 6 ปี ส่วนการซื้อเครื่องจักรกลชำระคืนไม่เกิน 8 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ 2% รัฐบาลจะชดเชยให้ ธ.ก.ส. 2 - 3% ขึ้นอยู่กับประเภทผู้กู้ ยกเว้นการซื้อรถบรรทุก คิดจากผู้กู้ 4% และรัฐบาลจะไม่ชดเชยให้
ทั้งนี้ โครงการนี้จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งในปี 62 - 64 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4,579 ล้านบาท มีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ 8.4 แสนไร่