น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, ปัญหาค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์หน้า (8 มิ.ย.) จะมีการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ และอาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตามสถานการณ์ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไป
พร้อมมองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วราว 7.9 แสนคน
อนึ่ง ในการประชุม กนง.ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. 65 ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 3.2% อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.9% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 7% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 6 พันล้านดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.6 ล้านคน
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนั้น หากพิจารณาจากที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์ในระยะยาวด้วย
น.ส.ชญาวดี มองแนวโน้มค่าเงินบาทว่ายังมีความผันผวน จากปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนและภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินไว้
"แนวโน้มเงินบาทยังผันผวน เพราะปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเยอะ เวลามีปัจจัยขึ้นมา ก็จะเห็นบาทผันผวน คงจะบอกยากว่าจะอ่อนค่า หรือแข็งค่า เพราะขึ้นกับแต่ละเหตุการณ์ แต่อยากให้ประชาชนและธุรกิจดูแลความเสี่ยง และป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย" น.ส.ชญาวดี ระบุ
ขณะที่ในช่วงเดือนพ.ค. เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกผันผวนจากความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด