รมว.คลัง ห่วงการเมืองบั่นทอนความเชื่อมั่น/เตรียมมาตรการรับมือ ศก.สหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 19, 2008 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการรับมือผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยด้วยการผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่ยอมรับยังห่วงปัจจัยการเมืองที่สร้างผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน 
"จีดีพีปีนี้จะโตได้ 6% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นภายในประเทศ หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นทำให้นักลงทุนได้ก็จะผลักดันให้การลงทุนและการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ยังยอมรับว่าปัจจัยด้านการเมืองยังมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยา" นพ.สุรพงษ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะล่าสุดที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.75% เนื่องจากได้คาดการณ์ว่าขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในช่วงถดถอย และส่งผลกระทบในระดับต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการตั้งรับ ด้วยการเร่งฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งรัดผลักดันเม็ดเงินลงสู่ระดับรากหญ้าให้เร็วที่สุด คาดว่าจะดำเนินได้ภายในเดือน เม.ย.นี้
นอกจากนั้น ภาครัฐจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปกติของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยจะไม่รอไปดำเนินการในช่วงปลายปีงบประมาณเหมือนกับที่ผ่านๆ มา แต่จะดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ พร้อมกันนั้นจะผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็คต์ด้านการศึกษาและสาธารณสุขอย่างชัดเจนภายใน 3 เดือน เนื่องจากการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าถือเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้ระยะเวลา
นพ.สุรพงษ์ เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะดูแลด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท.อยู่ตลอดเวลา และ ธปท.ก็ได้ติดตามการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในขณะนี้เห็นว่าอยู่ที่การฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้มีการลงทุนมีการขยายตัว ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องส่งเสริมด้านการค้าขาย การส่งออก และการท่องเที่ยวด้วย ส่วนปัญหาบาทแข็งค่าก็ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และมองว่าผู้ส่งออกน่าจะเสนอราคาเป็นเงินสกุลอื่นแทนเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความเสี่ยงลงบ้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ