นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เชิญชวนให้บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมการประมูลยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 หลังจากเปิดให้ยื่นขอเมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 โดยได้ประชาสัมพันธ์ประกาศเชิญชวนฯ ไปยังบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมภายในประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศในการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนในประเทศต่างๆ ที่สนใจให้เข้ามาสำรวจละผลิตปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์รองรับความผันผวนด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาดูข้อมูลใน DATA ROOM โดยมีผู้สนใจแล้วจำนวน 4 ราย เป็นบริษัทในไทย 2 ราย และบริษัทร่วมทุนต่างชาติ 2 ราย ซึ่งหลังจากนี้ในช่วงเดือน ก.ย.จะต้องส่งข้อเสนอ (Submit Proposal) โดยคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอ และประกาศผลได้ในช่วงเดือน ก.พ.66
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าหากมีผู้เข้ามาลงทุนใน 3 แปลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดการลงทุนขั้นต้นสุดราว 1,500 ล้านบาท และถ้ามีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมหลัก 10,000 ล้านบาทขึ้นไป
"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเชื่อมั่นว่ากลไกต่างๆในการบริหารสัญญาแบ่งปันผลผลิตในอนาคตโดยรัฐ จะสามารถทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในการประมูลยื่นขอสิทธิฯ ครั้งนี้ได้ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท จากกิจกรรมการสำรวจปิโตรเลียม และหากมีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกเป็นจำนวนมาก"นายสราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ หลังการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และ แปลง G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.65 ณ เวลาเที่ยงคืน มีอัตราการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอยู่ที่ 938 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ
ขณะที่ในเดือนพ.ค.มีอัตราการผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยของแปลง G1/61 อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลง G2/61 อยู่ที่ประมาณ 870 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำกับดูแลและผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียม (Ramp up) ของแปลง G1/61 ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันทาง ปตท.สผ. อีดี ก็เตรียมเจาะหลุมภายในเดือนมิ.ย.หรือเดือนก.ย. ซึ่งน่าจะมีหลุมทั้งสิ้นจำนวน 70-100 หลุม ในเดือนต.ค.นี้ และน่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่งก๊าซเอราวัณขึ้นมาได้ หรือคาดมีอัตราการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ณ สิ้นปีนี้ และคาดจะปรับตัวขึ้นแตะ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ในอนาคต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของหลุม ส่วนแหล่งบงกช คาดเพิ่มอีก 50 หลุม
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังมีแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนี้
1. ร่วมกับ บมจ.ปตท. (PTT) ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม โดยการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 รวมถึงแปลง B-17 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มนี้ได้ทยอยเข้าระบบแล้ว
2. กำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และประสานให้เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
3. ในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 พื้นที่ 8,487.20 ตารางกิโลเมตร, แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร และแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่ 11,646.67 ตารางกิโลเมตร นายสราวุธ คาดว่าในปีนี้การผลิตน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ก๊าซธรรมชาติคาดจะลดลงมาที่ระดับ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่มีการผลิตอยู่ที่ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในส่วนนี้ได้นำแหล่งอื่นๆ ทั้งบงกช, เอราวัณ, B8/32, B-17 มารวมแล้ว
สำหรับการจัดเก็บรายได้ครึ่งปีงบประมาณ 65 (เดือนต.ค.64-มี.ค.65) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม SRB และรายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนในการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งสิ้น 27,635.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 3,161.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.92%
แนวโน้มครึ่งปีหลัง การจัดเก็บรายได้ระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ย.65 ซึ่งจะรวมรายได้จากแปลงที่ดำเนินการในระบบสัมปทาน และแปลงที่ดำเนินการในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (รายได้ประกอบด้วยค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไร และค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ) คาดว่าจะมีรายได้จากทั้ง 2 ระบบ รวมทั้งสิ้น 25,653 ล้านบาท รวมทั้งปีน่าจะมีรายได้แตะ 50,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ราว 30,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปีนี้จะมีรายได้ทำส่งได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น