กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยมุมมองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.25-34.70 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.35 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.05-34.43 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตัวเลขภาคการผลิตและการจ้างงานของสหรัฐฯ สดใสเกินคาดหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นและกดดันค่าเงินเยนรอบใหม่ ขณะที่ยูโรเผชิญแรงขายหลังข้อมูลบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.1% ในเดือน พ.ค.65 ทางด้านค่าเงินดอลลาร์แคนาดาและดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.5% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bp เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6,079 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 3,887 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรที่ถือครองโดยต่างชาติครบอายุ 4,500 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 9 มิ.ย.65 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.65 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 10 มิ.ย.65 ขณะที่นักลงทุนกลับมาวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อโลก โดยการที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นครั้งใหม่ทำให้ตลาดไม่มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหรือไม่ ในสถานการณ์เช่นนี้กรุงศรีมองว่าค่าเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในลักษณะ sideway up เมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำและธนาคารกลางยังใช้นโยบายผ่อนคลายเป็นพิเศษ เช่น เงินเยน ขณะที่ทิศทางการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและการลดขนาดงบดุลของเฟดจะกดดันราคาสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทก่อนการประชุมเฟดรอบถัดไปในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 8 มิ.ย.65 โดยนักลงทุนจะให้ความสนใจกับท่าทีของ กนง.ว่าจะยังคงหนักแน่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือจะแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับกิจกรรมการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและหันไปกังวลมากขึ้นต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพื่อส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า
อนึ่ง กรุงศรียังประเมินอย่างระมัดระวังว่าแม้เครื่องชี้วัดการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นสอดคล้องกับภาคบริการ แต่ตลาดแรงงานยังเปราะบางซึ่งสะท้อนบริบทที่แตกต่างจากสหรัฐฯท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องค่าครองชีพที่พุ่งขึ้น โดยปัญหาเงินเฟ้อในไทยมาจากด้านต้นทุนเป็นสำคัญ