นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 106.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และเพิ่มขึ้น 1.40% จากเดือน เม.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19 %
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค.65 อยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.28% และเพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือน เม.ย. 65 ส่งผลให้ CORE CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 1.72%
"อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกรณีที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐในบางโครงการได้สิ้นสุดลง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม...โดยเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. สูงสุดในรอบ 13 ปี" นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. 65 ของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ซึ่งเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 7.10% มาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 35.89% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.65 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเม.ย.ไปจนถึงเดือนมิ.ย.65
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหาร สูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
อย่างไรก็ดี ในเดือนพ.ค.65 นี้ มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น 190 รายการเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.65 เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, ค่ากระแสไฟฟ้า, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ก๊าซหุงต้ม, ข้าวสารเจ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง 163 รายการ ได้แก่ มะนาว, พริกสด, ผักกาดขาว, มะม่วง, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และนมสด เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 77 ราย
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงทิศทางอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.65 ว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและบริการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมมองว่า ต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดือนมิ.ย. เนื่องจากในเดือนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียเพื่อขอให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงได้บ้าง
"สัญญาณที่ราคาน้ำมันจะลดลงก็ยังพอมีอยู่บ้าง ต้องรอดูผลการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐกับซาอุฯ ที่จะไปขอให้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้น...คาดว่าเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. 65 ก็ยังจะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างเดียว แต่มาจากการเทียบกับฐานในเดือนมิ.ย. 64 ที่ต่ำด้วย" นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2, ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวที่ 4.75% แต่ในภาพรวมทั้งปีนี้ เชื่อว่าจะไม่สูงขึ้นไปจนถึงระดับ 6 หรือ 7%
"เงินเฟ้อช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อาจจะอยู่ในระดับสูง ถ้าโจทย์สำคัญยังมาจากราคาน้ำมัน แต่เชื่อว่าพอไตรมาส 4 อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ เริ่มลดลง เพราะเทียบกับฐานเงินเฟ้อของปีก่อนที่เริ่มสูงขึ้น" นายรณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ดี สนค. ยังไม่มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 65 โดยยังคงไว้ตามเดิมที่เคยประกาศไว้ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ 4-5%
"สนค. ยังติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออยู่ตลอด แต่เงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ...ส่วนเงินเฟ้อของทั้งปีนี้ เรายังไม่ได้ปรับประมาณการ ยังใช้ของเดิมที่เคยประกาศไว้ล่าสุด และเชื่อว่าทั้งปีคงไม่ขึ้นไปถึง7%" นายรณรงค์ กล่าว